กมธ.เด็กฯ เชิญ มหาดไทย-ยุติธรรม-กทม. ถกความพร้อมจดทะเบียน “สมรสเท่าเทียม” วันแรก 23 ม.ค. “ครูธัญ” ชี้ควรเร่งปรับถ้อยคำในกฎหมายอื่นๆ ให้มีความเป็นกลางทางเพศ รองรับยุคสมัยแห่งความเท่าเทียม
วันนี้ (9 ม.ค.) คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุม โดยเชิญตัวแทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กรุงเทพมหานคร และกระทรวงยุติธรรม หารือเกี่ยวกับความพร้อมในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ในวันที่ 23 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันแรกที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศ
โดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกรรมาธิการกิจการเด็กฯ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ ตัวแทนจากกรุงเทพมหานครได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมในช่วงที่ผ่านมา การทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการสื่อสารต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ บทบัญญัติกฎหมายที่เปลี่ยนแปลง และคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศอีกต่อไป แต่มีการเปลี่ยนแปลงอายุจาก 17 ปี เป็น 18 ปี รวมถึงการเตรียมพื้นที่ให้เพียงพอ เนื่องจากอาจมีผู้เข้ามาจดทะเบียนสมรสเป็นจำนวนมาก ขณะที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงเอกสารผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส จาก “สามี-ภริยา” เป็น “บุคคล” เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว
นายธัญวัจน์ กล่าวต่อไปว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มีการส่งข้อสังเกตให้คณะรัฐมนตรีเร่งแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้มีถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศ เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และกฎหมายรับรองเพศคำนำหน้านาม เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม ทั้งในด้านการก่อตั้งครอบครัว การตั้งครรภ์ และการได้รับความคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎหมาย เผยแพร่ความรู้ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายใหม่ในอนาคต
“ถึงแม้ว่าในมาตรา 67 วรรคหนึ่งของการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะบัญญัติไว้ว่า บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภรรยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย ซึ่งเป็นมาตราที่อยู่ในร่างของพรรคก้าวไกลในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบทบัญญัติในบางกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายรัษฎากร พระราชบัญญัติสัญชาติ ที่กำหนดให้สามีและภริยาสิทธิไม่เท่ากัน” นายธัญวัจน์ กล่าว
.
ดังนั้น ทางคณะกรรมาธิการจึงเสนอให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณากฎหมายที่มีคำว่าสามีภรรยานั้นสามารถตีความให้หมายถึงคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศได้หรือไม่ ซึ่งหากมีกฎหมายที่ต้องแก้ไขจะต้องรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน นับจากวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ก่อนเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี