xs
xsm
sm
md
lg

แก้รธน.เจตนาเขย่า เอาให้ป่วน-ผ่านยาก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิสุทธิ์ ไชยณรุณ - วันมูหะมัดนอร์ มะทา
เมืองไทย 360 องศา

ตามกำหนดการ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สั่งบรรจุเข้าวาระนัดประชุมวันที่ 14-15 มกราคมนี้ และที่ต้องจับตาก็คือ ร่างแก้ไขของพรรคประชาชน และจะตามสมทบด้วยร่างของพรรคเพื่อไทย มีเนื้อหาหลักคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ รวมไปถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามต่างๆ ยังรวมไปถึงตัดทอนอำนาจองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

สำหรับการแก้ไข มาตรา 256 มีเป้าหมายก็คือ ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยการแก้ไขมาตราดังกล่าว มีเจตนาตัดการทำประชามติ ตัดอำนาจส.ว.ไม่ให้ร่วมโหวต อีกทั้งยังปิดทางการลงประชามติ โดยให้ทำแค่ก่อนทูลเกล้าถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ทุกอย่างก็ดำเนินการไปได้ตามปรารถนา โดยเฉพาะ หมวด 1 และหมวดที่ 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จะนำไปสู่การฟ้องร้อง และละเมิดได้ในที่สุด ก็สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเป้าหมายของพรรคประชาชน ต้องการผลักดันมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ขณะที่พรรคเพื่อไทย แม้จะยืนยันโดย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ย้ำว่าไม่แตะหมวดสำคัญดังกล่าว การเสนอเข้ามาแบบนี้ มันเหมือนกับตีเนียน เข้ามาไม่มีผิด

โดยเขาระบุว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยนั้น ยึดสาระสำคัญ คือจะไม่แตะ หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทุกมาตรา อีกทั้งต้องไม่แก้ไขในประเด็นที่อาจจะสร้างความแตกแยก ขัดแย้งในสังคม รวมถึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชน และทำให้ประเทศเดินหน้าผาสุก

“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย มีความแตกต่างกับพรรคประชาชน ซึ่งเรายึดหลักการคือไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่ รวมถึงไม่กระทบกับจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น รายละเอียดแบบสุดโต่งไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หากคิดว่าจะเอาแบบนั้น เชื่อว่าจะมีความขัดแย้ง สังคมแบ่งเป็นสองฝ่าย จะมีการชุมนุม ดังนั้นในการทำตามสัญญาประชาคม เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่ยึดแต่เรื่องการเมืองเหนือสิ่งอื่น หรือยึดแต่ผลแพ้ และ ชนะ” นายวิสุทธิ์ กล่าว

ขณะที่ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ท่านหนึ่ง แชร์โพสต์ข้อความเก่า เมื่อวันที่ 12 มีนาม 2564 สมัยยังป็น สว. เรื่อง ตีความคำวินิจฉัยย่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมข้อความเพิ่มเติมระบุว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วว่า ทำได้ แต่จะต้องจัดให้มีประชามติ สอบถามประชาชนเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือไม่เสียก่อน ในฐานะที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvior Constituant) ผมเคยเขียนและพูดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2564 เมื่อมีคำวินิจฉัยย่อปรากฏออกมา ภายหลังเมื่อมีคำวินิจฉัยกลางออกมา ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงในสารัตถะสำคัญ โดยเฉพาะไม่ได้มีการกล่าวอะไรเพิ่มเติมในประเด็นที่ 3 ที่ผมเขียนไว้

“ผมจึงมีความเห็นคงเดิมจนทุกวันนี้ จึงขอบันทึกไว้อีกครั้งว่า จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะต้องจัดให้มีประชามติสอบถามประชาชนก่อน สุดแท้แต่จะพิจารณากัน”

อย่างไรก็ดี ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ดังกล่าวเหมือนเป็น “ประตู” เพื่อเข้าไปสู่การตั้ง สสร. สำหรับการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพียงแต่มีโอกาสที่จะสามารถเดินไปเปิดประตูนั้นได้หรือเปล่า เพราะถึงอย่างไรมันก็ยังต้องฝ่าด่านของส.ว.ให้ได้ก่อน เพราะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การแก้ไขต้องใช้เสียงโหวตของส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ ราว 67 คน ด้วย

ตรงนี้แหละ ที่น่าจะมีปัญหา เพราะเท่าที่เห็นท่าทีล่าสุดของ บรรดาส.ว.หลายคนเริ่มออกมาขยับต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข และเห็นว่า เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเท่านั้น และยังสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ อีกด้วย

นอกเหนือจากนี้ หากมีการพิจารณาแก้ไขกันจริงๆ ยังต้องเจอกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยเรื่องการแก้ไขอันมิชอบ เนื่องจากไม่ผ่านการลงประชามติเสียก่อน หากมีการยกร่างทั้งฉบับ ซึ่งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ว่า “รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชน ลงมติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง”

หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว การจะเปิดประตู เพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ (ฉีกฉบับเก่าทิ้ง) น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะต้องเจอกับด่านหิน ทั้ง สว.ที่ต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 67 คน พรรคการเมืองบางพรรคที่เริ่มไม่เห็นด้วย หากเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงกับการไปแตะต้องหมวดที่เกี่ยวข้อกับพระมหากษัตริย์ อีกทั้งเมื่อสำรวจความเห็นของประชาชนแล้วมีแนวโน้มออกมาในแนวที่ว่ายังไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข อีกทั้งยังมีความสิ้นเปลืองงบประมาณ จากการลงประชามติ ที่ต้องเงินนับหมื่นล้านบาท แลกกับการได้นักการเมืองเดิมๆ กลับมา

ดังนั้น มาถึงตรงนี้ พอจะมั่นใจได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยร่างของพรรคประชาชน ที่ต้องการแก้ไข มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวด 15/1 น่าจะผ่านยาก เพียงแต่หากดูเจตนาแล้ว เหมือนกับการต้องการ “ทดสอบ” อะไรบางอย่าง หรือเขย่าให้ป่วนเท่านั้น เพราะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าผลจะออกมาแบบไหน !!



กำลังโหลดความคิดเห็น