xs
xsm
sm
md
lg

“อนุดิษฐ์” สะกิด “บิ๊กอ้วน” เบรกซื้อกริพเพน เจียดงบฯแค่ 1 ใน 3 ปรับปรุง F-16 ฝูงเดิมเป็นบินรบยุค 4.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อนุดิษฐ์” แนะ “บิ๊กอ้วน” ทบทวนซื้อบินรบ 6 หมื่นล. ตามโมเดลเรือดำน้ำที่จ่อลดซื้อลำเดียว ชี้ใช้แค่ 2 หมื่นล.ปรับปรุง F-16 เดิมเป็นยุค 4.5 เงินเหลือชอปยุทโธปกรณ์รุ่นใหม่-ปั้นโครงการเพื่อ ปชช. พร้อมแนะ ทบ.ซื้อโดรนยุทธวิธี 4 ลำ งบฯ 700 ล. ควรล็อกซื้อ “โดรนไทย” ถือโอกาสหนุนอุตฯป้องกันประเทศ เพิ่มเชื่อมั่นต่างชาติ ที่ ปัจจุบันเตรียมซื้อโดรนหลายร้อยลำ โดยมองหาจากแหล่งจัดหาทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือคู่กรณี

จากกรณีที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์จีน แต่จะรอลงนามอนุมัติการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า โดยจะรอผลการทดสอบจากประเทศปากีสถาน ที่สั่งซื้อเรือดำน้ำรุ่นเดียวกัน และใช้เครื่องยนต์เดียวกันจากประเทศจีนเสียก่อน นอกจากนี้ยังอาจทบทวนปรับลดการจัดซื้อเรือดำน้ำเหลือเพียง 1 ลำจากเดิมที่กำหนดไว้ 3 ลำด้วยนั้น

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต สส.กทม. และอดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะอดีตผู้บังคับฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 102 (F-16) กองทัพอากาศ (ทอ.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลโดย นายภูมิธรรม มีแนวโน้มจะปรับลดการซื้อเรือดำน้ำ ด้วยเหตุผลเรื่องความคุ้มค่า และงบประมาณมหาศาลถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาทหากซื้อครบทั้ง 3 ลำตามเดิม ซึ่งก็อยากให้ นายภูมิธรรม นำหลักคิดเดียวกันมาทบทวนการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่เพื่อทดแทนฝูงเก่าที่ปลดประจำการ ซึ่งเบื้องต้น ทอ.ตกลงที่จะซื้อเครื่องบินกริพเพน (Gripen) จากประเทศสวีเดน จำนวน 4 ลำด้วยงบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท หากแต่การจัดซื้อเครื่องบินขับไล่นั้น เมื่อซื้อไปแล้วจะไม่สามารถปรับลดจำนวนในภายหลังแบบเรือดำน้ำได้ เพราะต้องซื้อครบทั้งฝูงบินหรือไม่ต่ำกว่า 12 ลำ ที่ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นเกือบ 6 หมื่นล้านบาท การจัดซื้อแบบแนวคิดเดิมๆ ที่กองทัพจะต้องอยู่กับยุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงเป็นเวลา 30 ปี แบบเดิมๆ สร้างกับดักให้กองทัพ ขัดขวางการพัฒนาที่ต้องสอดรับกับภัยคุกคามในพื้นที่ตามสถานการณ์ตลอดเวลา สร้างภาระที่ต้องใช้ทรัพยากรมากมายมาบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาที่ใช้งบประมาณลงทุนไป 6 หมื่นล้าน ไปอีก 30 ปี โดยไม่เหมาะสมกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีทั่วไป ที่สามารถจัดหาในประเทศ ทำเองได้ ราคาถูก อ่อนตัวเพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามภัยคุกคามได้ทันที

“ผมได้แสดงความเห็นในเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่มาตลอดว่า ด้วยงบประมาณมหาศาลในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ รวมถึงผลกระทบต่อยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังมีทางเลือกอื่นในการปรับปรุงพัฒนาฝูงบินรบเดิมให้เป็นฝูงบินยุค 4.5 ที่สามารถพึ่งพาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่สำคัญราคาถูกกว่ามาก และตอบโจทย์ความต้องการในระยะสั้น ชะลอโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบของ ทอ. งบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาทครั้งนี้ออกไปก่อน เพื่อรอเงื่อนไขการจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ที่คุ้มค่ากว่าในอนาคต” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ต้องเน้นย้ำว่าการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ต้องใช้งบประมาณมากถึง 6 หมื่นล้าน ไม่ใช่แค่ 1.9 หมื่นล้านบาทในล็อตแรก และยังต้องคำนึงถึงการขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลกับประเทศสวีเดน ที่หากประเทศสวีเดนไม่มีข้อเสนอการชดเชยโดยตรง (Direct Offset) ที่คุ้มค่า และชัดเจนมากพอ ก็ต้องถามว่า ทอ.ยังต้องการซื้อเครื่องบินกริพเพนอีกหรือไม่ เพราะหากต้องการรักษาความพร้อมในการป้องกันประเทศ และยกระดับความสามารถของยุทโธปกรณ์ให้เป็นเครื่องบินรบยุค 4.5 ก็สามารถนำฝูงบิน F-16 มาพัฒนาปรับปรุง โดยใช้งบประมาณแค่ 1ใน 3 หรือไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ถือว่าลดภาระทางงบประมาณไปได้อย่างมหาศาล เงินที่เหลืออีก 4 หมื่นล้าน อาจจะนำ 2 หมื่นล้านบาทที่เหลือนี้ ไปจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ตอบสนองการป้องกันภัยคุกคามสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกระสุน ยุทธภัณฑ์ โดรน หรือยานรบต่างๆ ที่ปัจจุบันสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ขณะที่อีก 2 หมื่นล้านบาทก็สามารถนำกลับไปทำโครงการดีๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนได้อีกนับไม่ถ้วน

“หากรัฐบาลมีเงิน 6 หมื่นล้านบาท นอกจากจะได้เครื่องบินรบยุค 4.5 จำนวน 1 ฝูงบินตามที่ ทอ.ต้องการแล้ว กองทัพยังได้ยุทโธปกรณ์อีกจำนวนมากมาใช้ป้องกันภัยคุกคามสมัยใหม่ และยังมีเงินเหลือกลับไปให้รัฐบาลกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญงบประมาณทั้งหมดก็ถูกใช้หมุนเวียนภายในประเทศเองเกือบทั้งหมด” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ทราบมาด้วยว่าขณะนี้ กองทัพบก (ทบ.) โดย กองพันข่าวกรองทางทหาร มีแผนจะจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ (UAV) ทางยุทธวิธี จำนวน 4 ลำ งบประมาณราว 700 ล้านบาทเศษ ในปีงบประมาณ 2568 โดยอยู่ระหว่างการเชิญชวนให้ผู้ผลิต และผู้แทนจำหน่ายเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในประกาศเชิญชวนยังคงเปิดกว้างทั้ง UAV หรือโดรนที่ผลิตในประเทศ และจากต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาคุณลักษณะ หรือสเปกที่ ทบ.กำหนดก็มี UAV คุณภาพดีที่ผลิตในประเทศไทย และได้รับการยอมรับจากต่างชาติอยู่แล้ว 

“เมื่อเดือน พ.ย.67 ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมชมงานโดรนเทค เอเชีย 2024 (DronTech Asia 2024) ที่เป็นงานแสดงนวัตกรรมและประชุมสัมมนาระดับนานาชาติที่จัดครั้งแรกในไทย ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็ทราบว่า ต่างชาติให้ความสนใจโดรนที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย และมีแนวโน้มที่จะสั่งซื้อหลายร้อยลำ โดยมองหาจากแหล่งจัดหาทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือคู่กรณี ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่เขาสนใจมาก คือ จากประเทศไทย เนื่องจากนโยบายวางตัวถ่วงดุลของรัฐบาลไทยที่ดูเหมาะสมกับตลาดโดรนในปัจจุบันเป็นอย่างดี ถึงขนาดพูดคุยว่า หากมีการสั่งซื้อจริง บริษัทไทยต้องไปเปิดโรงงานผลิตในประเทศเขาด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ UAV หรือโดรน ที่ทางต่างประเทศให้ความสนใจก็เป็นสเปกเดียวกับที่ ทบ.กำลังจะจัดซื้อ ตรงนี้จึงเกิดความย้อนแย้งขึ้นพอสมควร เพราะหากต่างชาติให้การยอมรับและสั่งซื้อโดรนสัญชาติไทย แต่กองทัพของไทยกลับไปสั่งซื้อโดรนที่ผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งถ้า ทบ.ใช้โอกาสนี้สนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S Curve ตลอดจนนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน และแนวนโยบายของ นายภูมิธรรม โดยการเลือกจัดซื้อ UAV สัญชาติไทย ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ต่างชาติ ในหลายๆประเทศ ที่กำลังตัดสินใจซื้อโดรนสัญชาติไทย รวมไปถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหม รัฐสุลต่านโอมาน ลงนามในสัญญาจ้างสร้างเรือหลายลำกับบริษัทไทยด้วย

“ถ้า ทบ.ซื้อของในประเทศ ก็เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้ต่างชาติในการซื้อโดรนที่ผลิตในประเทศไทย และยังเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเองด้วย กลับกันถ้า ทบ.เลือกซื้อของที่ผลิตจากต่างประเทศอีก ก็จะเป็น
การดิสเครดิตของที่ผลิตในประเทศไทยในทางอ้อมว่า ขนาดกองทัพไทยยังไม่ใช้เลย” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อด้วยว่า ตั้งแต่ นายภูมิธรรม มาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็ได้พูดย้ำในหลายวาระถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเองมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อว่า นายภูมิธรรม มีความตั้งใจจริงในการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไทย อาจจะขาดเพียงความชัดเจน และความเด็ดขาด เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจจัดซื้อยุทโธปกรณ์ก็จะระบุว่า ขึ้นอยู่กับกองทัพ ทั้งๆที่นโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ ไปจนถึงแผนการของเหล่าทัพต่างๆ ก็ระบุชัดเจนในเรื่องนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น