เมืองไทย 360 องศา
ตามกำหนดการคาดว่าที่ประชุมรัฐสภาจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในราวกลางเดือนมกราคมนี้ โดยเวลานี้มีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งแบบรายมาตรา และแก้ไขทั้งฉบับไปรออยู่ในระเบียบวาระกว่า 10 ฉบับแล้ว
อย่างไรก็ดี ที่ต้องจับตามองก็คือ ร่าง แก้ไขมาตรา 256 ของพรรคประชาชน เพื่อการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ทำให้มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดวิกฤตการเมืองรอบใหม่ อีกทั้งยังเชื่อว่ามีโอกาสผ่านความเห็นชอบได้ยาก
ก่อนหน้านี้ นายนิกร จํานง เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และ หมวด 15/1 ที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้เสนอ ว่า เป็นความพยายามที่ตนเอาใจช่วย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะมีอุปสรรคและปัญหาทางนิติศาสตร์ อาจมีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ทําได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการยื่นศาล ก็อาจมีปัญหาเหมือนปี 2563 ที่สมาชิกรัฐสภามีความกังวลในการลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไข มาตรา 256 เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีการทำประชามติก่อน และจะเสี่ยงถูกร้องกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดมาตรฐานจริยธรรม นำไปสู่การถอดถอนได้
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่า สาระสำคัญของ ร่าง พรรคเพื่อไทย คือการแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการมี สสร.200 คนแบ่งตามจังหวัดและจำนวนประชากร ส่วนที่มีการทักท้วงว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้งนั้น ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่ถ้าบรรจุไปแล้ว และหากมีคนขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ถือเป็นเรื่องดีจะได้วินิจฉัยไปเลยว่าสรุปแล้วจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้ง ทั้งนี้ หากทำประชามติ 2 ครั้ง มีโอกาสที่การแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จทันรัฐบาลนี้ เพราะจะย่นเวลาจากที่รอ 180 วัน
ส่วนที่คาว่าจะมีการร้องเอาผิดตาม มาตรา 157 เขากล่าวว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของสภาฯ ไม่ต้องวิตกกังวล ที่ผ่านมาเราคิดเรื่องนี้กันมาก แต่ลืมไปว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาฯ เราก็ทำโดยสุจริตไม่ต้องกลัวอะไร ใครจะร้องก็ว่ากันไป
อย่างไรก็ดี นั่นคือด่านเริ่มต้นในสภาผู้แทนราษฎร เพราะถึงอย่างไรแม้ว่าจะผ่านไปได้ ก็ต้องมาเจอกับด่านหินในลำดับต่อไปก็คือ วุฒิสภา เพราะในการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา นั่นคือ มติต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยจำนวน 1 ใน 3 หรือ ต้องมี ส.ว.ให้ความเห็นชอบจำนวน 67 คน ถึงจะผ่านได้ ถึงต้องบอกว่านี่แหละคือ ประเด็นสำคัญมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด
ล่าสุด ก็เริ่มมีท่าทีชัดเจนออกมาจากฝ่าย ส.ว.บ้างแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีความจำเป็น เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบควบคุมการทุจริตประพฤติมิชอบอันเข้มงวดมากกว่า และยังสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ โดย ส.ว.สองคนดังกล่าวที่ออกมาแสดงตัวก่อนใคร คือ นายชาญวิศว์ บรรจงการ และ พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์
นายชาญวิศว์ กล่าวว่า แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสามารถแก้ไขได้ และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยออกมาแล้วว่าแก้ไขได้ แต่ตอนนี้ฝ่ายการเมืองต้องการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการมาทำทั้งฉบับเลย
“สำหรับเราเห็นว่ามันไม่จำเป็น และบางพรรคที่ต้องการแก้ ก็ต้องการแก้เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้แก้เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แต่ต้องการแก้เพื่อพวกพ้อง หากดูจากข่าวที่ออกมา บางพรรคต้องการแก้ให้มีแต่ ส.ส.เขตอย่างเดียว ไม่ต้องมีปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อตอบโจทย์ตัวเองเท่านั้น จะได้มีอำนาจต่อ หรือบางพรรคการเมือง ก็เลยเถิดไปเลย จะแก้ จะไปแหย่ทหาร ไปแก้กฎหมายเพื่อลดอำนาจทหาร หรือจะไปแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เห็นข่าวกันอยู่ คือแก้เพื่อจะสถาปนาตัวเองขึ้นมา”
อย่างไรก็ดี เขาเห็นว่า แต่หากจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป แต่ถ้าจะแก้แบบที่เอ่ยมา ผมไม่เอาด้วย และยิ่งจะมาแก้ทั้งฉบับ ผมยิ่งไม่เอาด้วย จะแก้ทำไม ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องอื่นมากกว่า เรื่องเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องรัฐธรรมนูญเลย
“ผมไม่เห็นด้วย คือประเทศเราทุกวันนี้ ค่อนข้างดีอยู่แล้ว จะทำทำไมให้วุ่นวาย ผมเป็นห่วงว่าประเทศจะวุ่นวาย อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในเรื่องพวกนี้ ควรเดินไปตามระบบมากกว่า”
ด้านนายพิสิษฐ์ เห็นว่า การแก้ไขรธน.ต้องยึดหลักสี่ข้อ คือ 1. ความรู้ ต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อนว่าแก้ไขรธน.ไปเพื่ออะไร แก้เรื่องไหนและแก้รธน.แล้วประชาชนได้อะไร 2. การรณรงค์ แต่ไม่ใช่รณรงค์ให้นอนหลักทับสิทธิ์ ที่มีวาทะของส.ส.พูดแบบนี้ ผมว่ามันผิดกฎหมาย แต่การรณรงค์ที่ถูกต้องคือ หลังให้ความรู้กับประชาชนแล้วต้องรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์
3. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ไม่ใช่ประโยชน์ที่จะไปเอื้อกับนักการเมือง 4. ความคุ้มค่า การทำประชามติหรือการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ใช้งบประมาณเป็นหลักพันล้านบาท ร่วมครั้งละสามพันล้านบาท และหากจะมีการแก้ไขรธน.แล้วทำประชามติ ก็ต้องทำไม่ต่ำกว่าสองครั้ง ก็ใช้งบร่วมหกพันล้านบาท และหากทำสามครั้งก็ร่วมหมื่นล้านบาท อันนี้คือสิ่งที่เราต้องคิดให้รอบคอบ
ยืนยันว่าไม่ได้คิดปิดประตูการแก้ไขรธน. เพียงแต่หากจะแก้ต้องตอบโจทย์ทั้งสี่เรื่องข้างต้นโดยเฉพาะเรื่องว่าประชาชนต้องการแก้ไขรธน.หรือไม่
หากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงผ่านยาก เพราะยิ่งนานไปกลายเป็นความต้องการของพวกนักการเมือง ไม่ใช่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ได้ไม่คุ้มเสีย ที่สำคัญต้องใช้เงินจำนวนนับหมื่นล้าน เพื่อจะได้นักการเมืองแบบเดิมๆ เข้ามา
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากสิ้นยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความพยายามในการสร้างเงื่อนไข “เผด็จการคสช.” ผ่านยุค 3 ป. ได้รัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย อำนาจการโหวตนายกรัฐมนตรี ของสว.ทำให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แรงกดดันแบบเดิมก็ไม่มีแล้ว กลายเป็นว่าเวลานี้สังคมกำลังจับจ้องมาที่พฤติกรรมในทางลบของพวกนักการเมืองมากกว่า
ดังนั้น เมื่อบรรยากาศเปลี่ยนแปลงเป็นตรงกันข้าม การจุดพลุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากพอ จนกลายเป็นกระแส มันถึงเป็นเรื่องยาก และยิ่งถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง มันก็จะกลายเป็นแรงต้านกลับมา เป็นความแตกแยกจนเสี่ยงวิกฤติขึ้นมาอีกครั้ง แต่ไม่ว่ามองในมุมไหนก็ต้องถือว่า “แก้ยาก” แน่นอน !!