เมืองไทย 360 องศา
เริ่มเดินเครื่องเป็นจริงเป็นจังแล้ว สำหรับหลักเกณฑ์คุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งแน่นอนว่าพอเปิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา ทำให้มองเห็นภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่านี่คือการวางแผนการล่วงหน้าเป็นการกรุยทางให้เธอได้เดินทางกลับไทย โดยไม่ต้องติดคุก หรือการคุมขังในเรือนจำ ลักษณะจะใกล้เคียงกับกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้ข้ออ้างเรื่องอาการป่วย และอายุเกิน 70 ปี เพียงแต่ว่านี่คือการวางกฎเกณฑ์ใหม่บางอย่างให้สอดคล้องกันเท่านั้น
แน่นอนว่าการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวออกมาย่อมทำให้หลายคนมองออกว่า นี่คือการ “ช่วยเหลือ” ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับประเทศ โดยไม่ต้องติดคุก หรือคุมขังในเรือนจำ และยังสอดคล้องกับคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร “พี่ชาย” ที่เคยบอกอย่างมั่นใจว่า เธอจะ“กลับไทยก่อนสงกรานต์” ปีนี้ (2568) ซึ่งตอนนั้นยังนึกไปต่าง ๆนานา ว่าเขาจะใช้วิธีการแบบไหนกันแน่
แต่เมื่อได้เห็นความเคลื่อนไหวล่าสุด โดยกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ที่กำลังคลอดหลักเกณฑ์ “คุมขังนอกเรือนจำ” ดังกล่าว ที่คาดว่าจะมีผลใช้ในเดือนมกราคมนี้ เป็นการนำร่องก่อน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้า ว่า ขณะนี้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเสร็จแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย กับหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจไม่มีการแก้ไขอะไร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็ง จำนวนมาก บางที่เราอาจต้องให้เขาออกไปอยู่ข้างนอก โดยอาจเป็นที่คุมขังอื่น แต่จะอยู่ได้แค่ในที่นั้น เพียงไม่ให้เกิดความแออัดในเรือนจำ เช่น คนเป็นโรคไตวาย จะไว้ในเรือนจำไม่ได้ อีกทั้งโรงพยาบาลทัณฑสถาน ก็เล็ก คาดว่าจะได้ใช้ระเบียบดังกล่าวแล้ว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เดิมคิดน่าจะแล้วเสร็จก่อนช่วงปีใหม่ หลังทำประชาพิจารณ์เสร็จ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 เนื่องจากระเบียบดังกล่าวมีขั้นตอนเยอะ มีคณะกรรมการระดับกรม ผบ. เรือนจำ องค์กรที่เข้ามาช่วยดู และที่สำคัญผู้ที่ออกไปคุมขังอื่นต้องติดกล้องเพื่อให้ดูได้ บางส่วนอาจติดกำไล EM รวมถึงมีการจำกัดพื้นที่ คาดว่าบังคับใช้หลังเดือนม.ค. โดยโทษส่วนใหญ่จะเป็นโทษเล็กน้อย ตั้งแต่ 4 ปีลงมา หากเรือนจำไหนพร้อม ก็จะทำ โดยจะต้องดูเรื่องของสุขภาพ และมีความผิดน้อยก่อน
ส่วนการเตรียมรับมือ เนื่องจากหลายคนมองว่า ระเบียบดังกล่าวถูกข้อครหาว่า จะทำเพื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ อีกทั้งมีโทษสูงกว่าที่กำหนด
อย่างไรก็ดี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ เพราะที่กำหนดไว้ มีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการจำแนก กลุ่มที่ต้องได้รับการพิจารณาพฤตินิสัย กลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และกลุ่มผู้ต้องขังเจ็บป่วย
ดังนั้น หากสำรวจแล้วเสร็จ จึงจะมีการพิจารณาถึงสถานที่ ที่จะใช้ในการคุมขังและระบบการดูแล แต่คงยังประกาศไม่ได้ว่าจะเป็นกลุ่มใดก่อน แต่เป็นไปได้ก็อยากทำทุกกลุ่มพร้อมกัน เมื่อหลักเกณฑ์ประกาศใช้ ราชทัณฑ์จะมอบหมายให้แต่ละเรือนจำทั่วประเทศรับไปดำเนินการ และให้พิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดมีคุณสมบัติ และสถานที่สำหรับคุมขังอื่นต้องรองรับด้วย เช่น ถ้าเป็นสถานที่สำหรับติดกล้องวงจรปิด ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อยทุกด้าน
ส่วนรายคดีประเภทความมั่นคง และความผิดต่อร่างกาย จิตใจ และเพศ จะเข้าเกณฑ์ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ หรือไม่นั้น ขอเรียนว่า ในส่วนของผู้ต้องขังในคดี พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง หรือ กฎหมาย JSOC จะไม่เข้าเงื่อนไขแน่นอน รวมทั้งคดีการก่อการร้าย คดีการจำหน่ายยาเสพติด ในปริมาณมาก หรือผู้ค้ารายใหญ่
“คำว่าคดีความมั่นคงนั้น ค่อนข้างกว้าง ส่วนผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่มีจำนวนมากในเรือนจำ จะได้รับการพิจารณาเข้าเกณฑ์หรือไม่ เราก็จะต้องนำมาพิจารณาทั้งหมด เพราะในการพิจารณา จะมีกรรมการตั้งแต่ชั้นเรือนจำ จนมาถึงกรรมการชั้นกรมราชทัณฑ์ ที่มีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน และก็ต้องมีการเสนอ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พิจารณาอีกครั้ง” นายสหการณ์ ระบุ
ถามว่า หากดูข้อมูลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เหลืออัตราโทษจำคุก 5 ปี หากมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย แล้วอาจเหลือโทษน้อยลง หรือได้รับการลดโทษ จะเข้าเงื่อนไขโทษต่ำ 4 ปี สำหรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ นายสหการณ์ กล่าวว่า เงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้คือ มีอัตราโทษไม่เกิน 4 ปี หรือมีคำพิพากษาจากศาลไม่เกิน 4 ปี ก็จะเข้าเงื่อนไข
อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายเข้ามาที่กรมราชทัณฑ์ เนื่องด้วยเจ้าตัวยังไม่ได้เข้ามาอยู่ที่เรือนจำ แต่หากเข้ามาที่เรือนจำเมื่อใดจึงจะยื่นขออภัยโทษได้
เมื่อเห็นแบบนี้แล้วทำให้พอเห็นแววแล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจจะเข้าข่ายที่จะ “ควบคุมนอกเรือนจำ” แม้ว่าเธอจะถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 5 ปี จากคดีที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งหลักเกณฑ์กำหนดเอาไว้ไม่เกิน 4 ปีก็ตาม แต่เมื่อเปิดทางให้กับวิธีการ “ขอพระราชทานอภัยโทษ” ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะมีการลดโทษจำคุกลงมาไม่เกิน 4 ปี
ที่ผ่านมากรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร มีการขอพระราชทานอภัยโทษ จนเหลือโทษจำคุกแค่ 1 ปี จากนั้น มีการอ้างถึงมีอาการป่วยขั้นวิกฤต ต้องออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยเขาอยู่ในเรือนจำเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น และด้วยอายุเกิน 70 ปี ประกอบกับอ้างว่า “ป่วยขั้นวิกฤต” จึงเข้าเกณฑ์ “พักโทษ” มาควบคุมที่บ้านและได้รับการปล่อยตัวในที่สุด และมีบทบาททางการเมืองไม่ต่างจากการเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงอยู่ในเวลานี้
วกมาที่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือว่ามีความเป็นไปได้สูง หาก “หลักเกณฑ์คุมขังนอกเรือนจำ” มีผลบังคับใช้ เพียงแต่ว่าเธอเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ และขอพระราชทานอภัยโทษ แม้ว่าจะเป็นพระราชอำนาจ แต่เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ไม่น้อย ประกอบกับว่าเวลานี้ “ครอบครัวชินวัตร” กำลังคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ มีนายกรัฐมนตรี คือน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถือว่าเป็นสายตรง ยิ่งเหมือนกับว่า “ทางโล่ง”
ขณะเดียวกันไม่ต้องพูดถึง กระทรวงยุติธรรม ที่ดูแลโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นี่ก็ยิ่งกว่าคนใกล้ชิด ทุกอย่างสามารถจัดให้ตามคำขอได้ไม่ยาก อีกทั้งยังมีอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คนปัจจุบัน ที่ขึ้นมาหลังจากที่ นายทักษิณ ถูกส่งตัวไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลตำรวจ มาก่อนหน้านี้
ดังนั้น การออกหลักเกณฑ์ “คุมขังนอกเรือนจำ” ออกมาแน่นอนว่าต้องมองไปที่การเอื้อประโยชน์ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าให้ “เนียน” ก็ต้องอ้างไปถึงสิทธิมนุษยชน เอื้ออาทรกับผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยขั้นรุนแรง ไม่สมควรถูกคุมขัง เพียงแต่หากสังเกตแล้ว ไม่ก็ไม่ต่างจาก “สุดซอย” เพราะเป้าหมายคือให้ “ครอบคลุมไปถึงคนที่ต้องการ” ด้วย และตามกำหนดคือ “ก่อนสงกรานต์” นั่นแหละ !!