รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงปี 2568
วันนี้ (24 ธ.ค.) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/2568 (8 มาตรการ) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 โดยมอบหมายหน่วยงานดำเนินการตามาตรการดังกล่าว และรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
นายอนุกูล กล่าว่า ตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ให้หน่วยงานนำไปใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานแล้ว สำหรับช่วงฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน ของปีถัดไปยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเริ่มวันที่ 1 มีนาคม สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปี ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ (1) ช่วงก่อนฤดู การเตรียมการและการสร้างการรับรู้ (2) ช่วงระหว่างฤดู การวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ และ (3) ช่วงสิ้นสุดฤดู การประเมินผลเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ได้ดำเนินการตามกรอบแนวทางวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ดังนี้
1. คาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 แผนการจัดสรรน้ำ และความต้องการใช้น้ำรายกิจกรรม ช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด และปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ แหล่งน้ำบาดาลตามข้อมูลมูลศักยภาพน้ำบาดาล (รายตำบล/อำเภอ/จังหวัด) โดยมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
2. คาดการณ์แผนการใช้น้ำรายเดือน ช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/2568 รายกิจกรรม ประกอบด้วย การอุปโภคบริโภค การเกษตรโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร เช่น เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการตรวจวัด รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม โดยการส่งเสริม จัดการน้ำใช้หลัก 3R (Reduce Reuse Recycle) ให้เพียงพอต่อปริมาณน้ำต้นทุนช่วงฤดูแล้ง
3. คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกพืช ช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน
4. ประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ช่วงฤดูแล้งปี 2567/2568 โดยแบ่งเป็นพื้นที่อุปโภคบริโภค (ในเขต/นอกเขตพื้นที่ให้บริการประปานครหลวง/ภูมิภาค) พื้นที่เกษตรกรรม (นาข้าว/ไม้ผลที่มีมูลค่าเศรษฐกิจ) และพื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ
5. การส่งเสริมความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำชุมชน/องค์ใช้น้ำ
นายอนุกูล กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/2567 มาปรับปรุง และจัดทำมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันสถานการณ์ จำนวน 8 มาตรการ และจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 จำนวน 3 ด้าน 8 มาตรการดังนี้ ด้านต้นทุน (Supply) มาตรการที่ 1 คาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 2 สร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรพร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand) มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพราะปลูกพืชฤดูแล้งบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 5 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) ด้านการบริหารจัดการ (Management) มาตรการที่ 6 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 7 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) และมาตรการที่ 8 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ หรือเสี่ยงภัยแล้ง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับฝนทิ้งช่วง ปี 2568 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ จำนวน 120 วัน นับแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ สำหรับพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด รวมถึงพื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนตามคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาเห็นสมควร