xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติหลักการร่างประกาศฯ ห้ามตั้งขยาย รง.ที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในการผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม. อนุมัติในหลักการร่างประกาศฯ เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตและห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต พ.ศ ....

วันนี้ (24 ธ.ค.) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (24 ธันวาคม 2567) ครม. มีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตและห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทฯ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตและห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตในโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานเพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท

โดยที่ประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (Minamata Convention on Mercury) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2560 เป็นต้นมา โดยบทบัญญัติในข้อ 5 กระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอท ของอนุสัญญามินามาตะฯ ได้กำหนด ดังนี้

1. ไม่ให้ภาคีสมาชิกอนุญาตให้มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตตามที่ระบุไว้ในส่วนที่ 1 ของภาคผนวก บี หลังจากวันที่กำหนดให้มีการเลิกสำหรับแต่ละกระบวนการ ได้แก่ (1) การผลิตคลอร์-แอลคาไล (ภายในปี พ.ศ. 2568) และ (2) การผลิตอะซีตัลดีไฮด์ ที่ใช้ปรอทและสารประกอบปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (ภายในปี พ.ศ. 2561)

2. กำหนดให้ภาคีสมาชิกต้องดำเนินมาตรการเพื่อจำกัดการใช้ปรอทในกระบวนการผลิตตามที่ระบุไว้ในส่วนที่ 2 ของภาคผนวก บี ได้แก่ (1) การผลิตสารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (2) การผลิตโซเดียมหรือโพแทสเซียม เมทิลเลต หรือเอทิลเลต และ (3) การผลิตโพลียูรีเทน ที่ใช้ปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

3. กำหนดให้ภาคีสมาชิกต้องไม่อนุญาตให้มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทในโรงงานหรือสถานประกอบการใหม่ รวมทั้งไม่ส่งเสริมการพัฒนาสถานประกอบการใดๆ ที่ใช้กระบวนการผลิตอื่นๆ ที่มีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทอย่างจงใจซึ่งสถานประกอบการนั้นไม่ได้มีอยู่ก่อนวันที่อนุสัญญามีผลใช้บังคับกับภาคีนั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทใน 5 กระบวนการผลิตตามข้อ 2.1 และ 2.2 แล้ว แต่ยังจำเป็นต้องออกประกาศกระทรวงดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำมาใช้ในอนาคต

ต่อมา อก. (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตและห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต พ.ศ .... โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

- กำหนดบทนิยาม ได้แก่ คำว่า “ปรอท” “สารประกอบปรอท” และ “โรงงาน”

- ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต (5 กระบวนการผลิตตามข้อ 2.1 และ 2.2) ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

- ห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตในโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานมาก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อเป็นการดำเนินการออกอนุบัญญัติเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทตามมติคณะรัฐมนตรี20 มิถุนายน 2560 และผ่านกลไกการพิจารณาของคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีของอนุสัญญามินามิตะว่าด้วยปรอท (รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นประธาน) และให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศดังกล่าว ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 โดยมีการปรับแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมและผ่านขั้นตอนการตรวจทานจากผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น