xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ติวเข้มวิทยากรจังหวัดรับมือเลือกตั้ง อบจ.1 ก.พ.68 กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้าย ก่อนปิดหีบต้องทำให้ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกต.ติวเข้มวิทยากรจังหวัดเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบ ต้องทำให้ดี ให้เกิดความน่าเชื่อถือ อิงตามหลักกฎหมาย


วันนี้ (24 ธ.ค.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมวิทยากรจังหวัดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ระบุตอนหนึ่งว่า ขอให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) มุ่งมั่นและหนักแน่นในการจัดการเลือก อบจ.ในครั้งนี้ เข้าใจว่า อาจจะมีความผิดพลาดบ้าง ซึ่งเกิดจากความเหนื่อยล้าไม่ใช่การไม่สุจริต แต่ก็ทำให้คนสงสัยและตั้งสมมติฐานบนแรงจูงใจทางการเมือง

ที่ผ่านมา มีแต่คำวิพากษ์วิจารณ์ กกต.ยกตัวอย่างในการเลือกตั้งปี 2566 กว่าครึ่งหนึ่งไม่เคยดูกฎหมาย แม้กระทั่งอาจารย์ที่ออกมานั่งสัมภาษณ์ตามสื่อ ก็มักจะพูดว่าทำไม กกต.ไม่ทำเช่นนั้นไม่ทำเช่นนี้แต่กลับไม่ดูว่ากฎหมายเป็นแบบไหน หลายคนพูดเอาใจคนดูไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา หลายคนเลยเถิดหาประโยชน์จากกติกา หาเหลี่ยมทางกฎหมาย ซึ่งก็ไปว่าเขาไม่ได้ในเมื่อกฎหมายไปไม่ถึง เมื่อกฎหมายมีช่องโหว่ ฉะนั้น เวลาที่พูดว่าไม่ยุติธรรม ความไม่ยุติธรรมส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกฎหมาย แต่ผลกระทบไปตกกับประชาชน มีหลายเรื่องที่ใครเขียนกฎหมายคนนั้นก็ได้เปรียบ แต่ในเมื่อเราเป็นคนทำงาน เห็นว่า ถ้าคิดว่ากฎหมายไม่ดี ก็แก้กฎหมายเพราะคุณเป็นคนออกกฎหมาย หรือถ้าบอกว่าตนหรือกกต. ทำไม่ดี ก็ฟ้องร้องได้ แต่ก็ไม่มีใครฟ้องสักทีมีแต่บอกว่าไม่เป็นกลางไม่โปร่งใส นี่คือตัวอย่างซึ่งตนก็ได้ไปชี้แจงในสภา

“ขอให้เจ้าหน้าที่ กปน.อย่าหวั่นไหวกับสิ่งที่เจอ ทำอย่างไรก็จะมีแรงเสียดทานอยู่ดี เพราะคนแข่งขันมีแต่มองประโยชน์ การแข่งขันทางการเมืองเพคนชนะกินรวบ ถึงอย่างไรเราก็โดนฉะนั้นต้องทนให้ได้ เพียงแต่เราจะต้องทำให้ถูกกฎหมาย ถ้าทำถูกไม่ต้องไปกังวลในเรื่องอะไร เมื่อเรามาทำตรงนี้ซึ่งเป็นงานสำคัญของชาติ ทุกคนก็หวังว่าเราจะทำให้ออกมาดี ซึ่งก็มีผู้หวังอยากจะได้ชัยชนะ เราจะยืนอยู่ได้ก็ด้วยการทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎหมายจะเบี้ยวอย่างไรเราก็ต้องทำตามนั้น แต่หากเราไม่ทำตามกฎหมายนั่นแปลว่าเราใช้อำนาจตามอำเภอใจ แบบนั้นเท่ากับว่าเราไม่อยู่กับร่องกับรอย ถ้ากฎหมายไม่ดีก็ไปแก้กฎหมาย อย่าโทษเรา อย่างการเลือกสว.มี 10 กว่าเรื่อง กฎหมายเขียนแบบนั้นแต่ทุกคนก็มาโทษ กกต. เราพยายามสื่อสารไปยังสภา เช่นเดียวกับกรณีการเลือกนายก อบจ.ซึ่งมีผู้ลาออกก่อนครบวาระ ใน 29 จังหวัด ทำให้เราต้องเลือกตั้ง 2 ครั้ง สิ้นเปลืองงบประมาณ ก็ไม่รู้ว่าจะแก้กฎหมายได้ทันแค่ไหน ถ้ายังไม่แก้เราก็ต้องทำงานแบบนี้”


นายแสวง ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงแนวทางการทำงานของ กปน. ในการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกองค์การบริหารส่วน และนายก อบจ. โดยเฉพาะช่วงเวลา 3 ชั่วโมงสุดท้าย ว่า วิธีการเลือกตั้ง เรื่องนี้สำนักงานได้กำชับมาตลอด แต่ยังมีอยู่บ้างที่เกิดข้อผิดพลาด กกต.จังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องมีหน่วยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในช่วงเวลานั้น แม้ กปน. จะได้รับการอบรม แต่เวลาเกิดปัญหาจริงๆ ต้องใช้เทคนิคและทักษะในการแก้ไข จึงต้องมีหน่วยใกล้ชิดในการอำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที และถูกต้อง

เมื่อถามว่า ทางฝ่ายการเมืองจับตามอง จะแก้อย่างไร นายแสวง กล่าวว่า เราวางไว้เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เพราะการเลือกอบจ. เป็นที่สนใจ การแข่งขันน่าสนใจพอๆ กับการเลือกตั้ง สส. ก็ว่าได้ จากทั้งพรรคการเมืองและฝ่ายประชาชน เราพยายามจะทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งหน่วยเลือกตั้ง การลงคะแนน หลังการปิดหน่วย การรวมคะแนน การนับคะแนน เพราะเราเห็นจากหลายครั้งเช่นเลือกอบจ. 29 จังหวัดที่ผ่านมา แม้เลือกเพียงนายกอบจ. แต่การรายงานผลคะแนน ก็ไม่เป็นไปตามเวลาที่เรากำหนด จะล่าช้ากว่าปกติ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งอาจเกิดจากพื้นที่หรือระบบที่รับข้อมูลมาพร้อมกันเยอะๆ เราต้องแก้ไขให้ประชาชนรู้สึกว่าเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ




กำลังโหลดความคิดเห็น