“พิชัย” บรรยายที่ ม.โตเกียว ย้ำ ปชต.ไทยมั่นคง ส่งผลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เชื่อ 10 ปี มีบทเรียน ลุยสร้างความมั่นใจนักธุรกิจญี่ปุ่น เร่งดันการค้า-ลงทุนไหลเข้าประเทศ
วันที่ 22 ธันวาคม 2567 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ให้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การเมืองและเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21 และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน” หรือ “Thai Politics and Economy in the 21st Century and the Policy Direction of the Current Government” โดยมีนักลงทุน สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุน นักวิชาการ นักศึกษาญี่ปุ่น และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว (Komaba Research Campus) ประเทศญี่ปุ่น โดยนายพิชัยได้พูดถึงภาพรวมและทิศทางของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทยที่เกี่ยวพันและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทยต่อไป
นายพิชัย กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้มาที่มหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ขอบคุณที่ให้ความสนใจกับประเทศไทยในมิติต่างๆ ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กันมากว่า 600 ปี และความสัมพันธ์ทางการทูตถึง 137 ปี ที่ประเทศไทยพัฒนาได้ทุกวันนี้ก็เพราะนักลงทุนญี่ปุ่น ที่มาลงทุนในไทย ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 นักลงทุนญี่ปุ่นหายไป แต่พอเรามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ การลงทุนญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมาใหม่ ตนได้เข้าร่วมงานครบรอบ 70 ปี เจโทรในไทย ได้พบกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่มาเยี่ยมกระทรวงพาณิชย์ ทุกคนแจ้งว่าจะกลับมาเป็นแชมป์นักลงทุนอีกครั้ง ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมาก็เป็นจริง ญี่ปุ่นกลับมาเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ที่ไทยอีกครั้ง
ที่ตนมาประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ต้องการให้กระแสการลงทุนจากญี่ปุ่นมาไทยโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวานได้มาประชุม “ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024” ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น พร้อมรัฐมนตรีของเวียดนามและเลขาธิการอาเซียน ได้มีโอกาสเจอนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่น 10 กว่าราย ทั้ง GS Yuasa International , Extrabold Corporation , Hitachi , Scheme Verge , SIIX , Mitsubishi Electric Corporation และ Softbank เป็นต้น รวมถึง JETRO, JICA, แบงค์กรุงเทพในญี่ปุ่น สำนักงาน BOI โตเกียว และ เจโทร ไจก้า ชวนให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับการยืนยันว่าจะมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ให้นักลงทุนญี่ปุ่นทวงแชมป์การลงทุนในไทยได้ต่อเนื่อง
โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1.9% ซึ่งต่ำมาก ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนจากต่างประเทศที่หายไป แต่ปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไตรมาสที่แล้วจีดีพีขยายตัว 3% และไตรมาสนี้น่าจะขยายตัวได้ 4% แต่จีดีพีไทยต้องโตอย่างน้อย 5% ขึ้นไป ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี ถึงจะหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง และการส่งออกไทยเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บวกถึง 14.6% คาดว่าการส่งออกทั้งปีของปีนี้จะเติบโตได้ถึง 5% และการลงทุนในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาสูงที่สุดในรอบ 10 ปี สิ้นปีนี้น่าจะแตะ 1 ล้านล้านบาท เพราะรัฐบาลไทย มีนโยบายส่งเสริมในอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ไทยได้รับความสนใจมากอย่าง PCB Data Center และ AI ซึ่งทางญี่ปุ่นกำลังจะมีการลงทุนเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยจะทุ่มงบประมาณมากกว่า 10 ล้านล้านเยน (2.2 ล้านล้านบาท) และทางไทยหวังว่าจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนของญี่ปุ่นด้วย
และขณะนี้ไทยก็กำลังเร่งเจรจา FTA เพื่อทำให้การลงทุนไหลเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น จากที่มีอยู่แล้ว 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ และล่าสุดมีกำหนดการลงนาม FTA ไทย-เอฟตา ในเดือนมกราคม 2568 ณ เมืองดาววอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในปีหน้าจะมี FTA เพิ่มขึ้นอีกหลายประเทศที่อยู่ในระหว่างการเจรจา ได้แก่ ไทย-อียู ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน และ อาเซียน-อินเดีย ทั้งนี้ไทยต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจในหลายด้านต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นได้อย่างเต็มที่เหมือนคนผอมจะให้อ้วนทันทีคงไม่ได้ ผอมมา 10 ปี กว่าจะอ้วนได้คงต้องใช้เวลาสักพัก แต่วันนี้ รัฐบาลมาในทิศทางที่ถูกต้องและเชื่อว่าจะไปได้ด้วยดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายส่งเสริมการค้าที่เรียกว่า 80:20 โดย 80 % คือการส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนอีก 20% เป็นเพียงการควบคุมไม่ให้มีการทำผิดกฏหมาย
“ส่วนเรื่องการเมืองของไทย กว่า 10 ปีที่ผ่านมา เรามีปัญหามาโดยตลอดตั้งแต่การรัฐประหาร รัฐบาลของนายกฯทักษิณ ก่อนหน้าการรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยโต 5-8% หลังรัฐประหารขยายตัวเพียง 3% และตั้งแต่ปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 1.9% เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เมื่อการเมืองกลับมามั่นคง เสถียรภาพรัฐบาลก็มั่นคง เศรษฐกิจไทยก็กลับมามั่นคง คนไทยรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เห็นภาพนี้ชัดเจนเชื่อว่าจะเรียนรู้และไม่ยอมให้มีการรัฐประหารอีก แนวทางการบริหารงานและการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ก็เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น ตอนนี้มีเพียงการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ถ้าแก้ได้เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นได้รวดเร็ว” นายพิชัย กล่าว