xs
xsm
sm
md
lg

“พล.ร.อ.บรรณวิทย์”ค้านมติตั้ง “อธิการบดี มศว.”คนใหม่ เหตุมีข้อกังขาขาดคุณสมบัติ จี้ อว.ทบทวน ก่อนเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (23 ธ.ค.) พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ประธานบริษัท เสียงประชาชนไทย จำกัด และผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ 13 สยามไท เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ และกลุ่มรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เข้ายื่นเอกสารข้อมูลร้องเรียนมายังตนในฐานะสถานีโทรทัศน์ ซึ่งประกอบกิจการเป็นสื่อมวลชน ในกรณี มีข้อคัดค้านการรับรองมติผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เนื่องจากอาจจะขาดคุณสมบัติเพราะไม่มีใบสด.43 มาแสดงให้เกิดความชัดเจนว่าได้ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วหรือไม่

พร้อมกันนี้ มีคำคัดค้านผลการประชุมสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ครั้งที่ 13/2567 เรื่องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 มีการพิจารณาวาระเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี แต่หลังจากนั้น อุปนายกสภามหาวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยได้แจ้งที่ประชุมว่า มีข้อร้องเรียนอธิการบดี ในเรื่องการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้แทนรองอธิการบดี และผู้แทนคณบดี โดยไม่แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อที่ประชุมและยังได้บังคับเชิญกรรมการสภา 4 ท่านออกจากห้องประชุม ส่งผลทำให้ไม่ครบองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย ขาดความครบถ้วนขององค์ประชุม ตามที่ได้กำหนดองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยในมาตราที่ 20 ของพระราชบัญญัติแห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดังนั้นหากที่ประชุมมีมติสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถือว่าเป็นมติการประชุมที่มิชอบ หรือไม่

ส่วนข้อร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติ เกี่ยวกับการผ่านการเกณท์ทหารของผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดีนั้น เมื่อมีการยื่นขอตรวจสอบเอกสารจากกองทัพภาคที่ 3 พบว่าช่วงที่ต้องรับการตรวจเลือกการเกณฑ์ทหารนั้น ผู้รับสรรหาเป็นอธิการบดี ได้บวชเป็นพระภิกษุ จึงได้รับข้อยกเว้นตามมาตรา 14 แต่ในมาตรา 15 ระบุว่าภายหลังลาสิกขาและอายุยังไม่ครบ 30 ปีบริบูรณ์จะต้องไปรับหมายเกณฑ์ทหารเพื่อเข้ารับการตรวจเลือกตามปกติ ซึ่งผู้ถูกร้องเรียน ไม่มีเอกสารปรากฎว่าได้ไปรับหมายเกณฑ์ทหารจากสัสดีอำเภอเมือง พิษณุโลก ตามกฎหมาย จนถึงปี 2539 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ต้องไปรับหมายเกณฑ์ จึงอาจเป็นผู้หลีกเลี่ยงการเข้ารับตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารหรือไม่ อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเข้ารับราชการไทย

ซึ่งการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นหน้าที่ของผู้ถูกร้องต้องดำเนินการเพื่อยืนยันว่าตนเองมีคุณสมบัติการเข้ารับราชการ ซึ่งการกระทำการหลีกเลี่ยงซ่อนเร้นข้อมูลใดๆ เพื่อประโยชน์ อาจเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมของข้าราชการอย่างชัดเจนหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่า ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยคนดังกล่าวคุณสมบัติอาจจะไม่ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่

พลเรือเอกบรรณวิทย์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาตนได้ยื่นข้อร้องเรียนไปยัง อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นอธิการบดี เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2567 รวมถึงยื่นให้ประธานกรรมการและกรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2567 และ ยื่นถึงรักษาการนายกสภามหาวิทยาลัยดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมาไว้แล้ว เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และยังเปิดให้บุคคลผู้ถูกร้องเรียนแสดงวิสัยทัศน์และได้รับการสรรหาในที่สุด

”ดังนั้นตนจึงขอให้รักษาการนายกสภาฯและกรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้เกิดความครบถ้วนรอบคอบที่สุด เนื่องจาก ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นตำแหน่งที่สำคัญและต้องทูลเกล้าฯถวายรายชื่อเสนอเพื่อรับการโปรดเกล้าฯ อันเป็นประเด็นที่อ่อนไหวละเอียดอ่อน ซึ่งข้าราชบริพารที่มีหน้าที่ต้องตระหนักรู้ จำเป็นจะต้องคัดสรรบุคคลที่ต้องไม่มีข้อกังขาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือขาดคุณสมบัติให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ แม้กระทั่งการเป็นข้าราชการ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความโปร่งใส ยุติธรรม และยึดหลักธรรมาภิบาล“

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวตรวจสอบไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พบว่า มีการยื่นคำอุทธรณ์และคัดค้านการรับรองมติผู้สมควรดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนคริน ซึ่งอยู่ในความกำกับดูแลของกระทรวง ระบุ ขอเรียกร้องให้กระทรวงฯ อว. ดำเนินการประกาศไม่รับรองมติการประชุมดังกล่าว โดยให้มีผลเป็นโมฆะและไม่ดำเนินการส่งชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เนื่องจากเป็นการประชุมดำเนินการด้วยความไม่ยุติธรรม และกระบวนการที่ไม่โปร่งใสที่มิได้พิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีให้ละเอียดถี่ถ้วน เป็นการฟ้องเพียงทางวาจาจากความเห็นของรองอธิการบดีฝ่ายวินัยฯ ที่มิได้มีคุณวุฒิทางด้านกฎหมายโดยตรง และเป็นการประชุมที่ไม่ครบด้วยองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงฯ อว.จะให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นมติที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งสูงสุดขององค์กรที่ต้องมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จึงขอทางกระทรวงฯ อว.โปรดดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความโปร่งใสและความไว้วางใจในระบบการศึกษาไทยสืบไป






กำลังโหลดความคิดเห็น