รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไข กม.ป.ป.ช. เพิ่มบทคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวโทษ เปิดช่องให้ร่วมมือปราบโกง สว. เสียงแตก หนุน-ค้าน โยก คดีทุจริตกองทัพ สู่ศาลทุจริต
วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีการพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งเสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดยมีสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับแก้ไข ที่เสนอโดย ครม.นั้น เป็นการเพิ่มเนื้อหาสาระว่าด้วยการกำหนดบทคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลแก่ หรือแสดงความเห็นต่อ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการทำผิดที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไม่ให้รับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย รวมถึงกำหนดมาตรการช่วยเหลือบุคคลที่ให้ข้อมูล เบาะแสดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับบุคคลที่ถูกกล่าวโทษ หรือถูกฟ้องร้องเพื่อปิดปาก เพื่อให้เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ขณะที่ฉบับของพรรคประชาชนมีสาระสำคัญ คือ ให้บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตประพฤติมิชอบ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จากเดิมที่ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้อยู่ในขอบเขตของธรรมนูญศาลทหาร และให้อัยการทหารดำเนินการ รวมถึงโอนย้ายคดีทุจริตประพฤติมิชอบที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแสดงความคิดเห็นของ สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. และ สส.พรรคประชาชนที่อภิปรายแสดงท่าทีสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ เพราะมองว่าเป็นมาตรการสำคัญของการป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบได้ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในส่วนของ สส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ลุกอภิปรายได้แสดงความเห็นสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.ป. ป.ป.ช. ฉบับที่ ครม. เสนอเพียงฉบับเดียว ยกเว้นในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ที่ นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนทั้ง2ฉบับ และตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.ป.ของ ครม. กำหนดบทคุ้มครองพยานและผู้ร้องเพื่อประโยชน์ในทางคดีของ ป.ป.ช. ทั้งนี้ หากมีกรณี คือ 1. ผู้แจ้งและพยานมีเจตนากลั่นแกล้ง 2. พยานกลับคำให้การในชั้นพนักงานสอบสวน 3. ผลการตัดสินพิจารณาของ ป.ป.ช. คณะใหญ่ยกคำร้อง 4. ป.ป.ช.ยื่นอัยการแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และ 5. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกตัดสินไม่ผิดคดีทุจริตที่ ป.ป.ช.ส่ง นั้น ผู้แจ้งเบาะแส พยานนั้นได้รับความคุ้มครองหรือไม่
“กรณีที่ถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบ บุคคลที่ถูกร้องจะมีผลกระทบต่อการเลื่อนขั้น รวมถึงมีผลทางการเมือง ที่ สส.ไม่สามารถได้เป็นรัฐมนตรีเพราะถูก ป.ป.ช. สอบ นักการเมืองที่มีมลทินจะไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเขาไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายใดๆ ถูกริดรอนสิทธิ ดังนั้น กมธ.วิสามัญที่ตั้งขึ้น ให้ความเป็นธรรมผู้แจ้งเบาะแส ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา หน่วยงานของรัฐที่เสียหาย และหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบด้วย” นายณัฏฐ์ชนน อภิปราย
ขณะที่ พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ที่เสนอโดยนายวิโรจน์ เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 ที่กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของทหาร ทั้งนี้ คดีทุจริตถือเป็นคดีอาญาประเภทหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว ศาลทหารใช้ระบบไต่สวน ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 พร้อมกับศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ได้ประสานการปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นและเริ่มพร้อมกัน ทั้งนี้ศาลทหารได้พัฒนาบุคลากร ตั้งแต่การอบรมและการศึกษา รวมถึงพัฒนาเครื่องมือมีความพร้อมซึ่งได้เชิญวิทยากรจากกระบวนการยุติธรรม
“ขอให้พูดเรื่องความจริง อย่าพูดเรื่องเท็จจริง ในปี 2565-2566 พบว่า มีการดำเนินคดี 98% มีคดียกฟ้อง 1% ดังนั้น กล่าวอ้างว่าทหารรช่วยเหลือกันเล่นพรรคเล่นพวก แต่ศาลทหารทรงความยุติธรรม ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแก้ไข และคิดว่าประชาชนกำลังดูเราอยู่ ที่พบว่าฉบับของนายวิโรจน์บอกว่าทำเพื่อประชาชน ดูจากผลการรับฟังความเห็น รวม 60 วัน ผลการรับฟังความเห็น มีผู้ร่วมชม 399 คน มีผู้แสดงความเห็น 14 คน เห็นด้วย 6 คน ไม่เห็นด้วย 7 คน ไหนอ้างว่าฉบับนี้ทำเพื่อประชาน ผมอยากรู้ว่าประชานทราบเรื่องนี้มากแค่ไหน ผมคิดว่าหากผมได้รับฟังความเห็นและประชาชนสนใจมากแบบนี้ น่าจะยกเลิกเรื่องนี้ ไม่น่าจะเป็นภาระของสภา” พล.อ.สวัสดิ์ กล่าว
หลังสมาชิกรัฐสภา อภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ฉบับ ครม. 493 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนไม่มี ถือว่าที่ประชุมรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน แปรญัตติ 15 วัน
จากนั้นลงมติ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนายวิโรจน์ เห็นด้วย 354 เสียง ไม่เห็นด้วย 129 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง โดยใช้ กมธ.ชุดเดียวกับฉบับ ครม.เสนอ โดยใช้ร่างของ ครม.เป็นร่างหลัก
ก่อนปิดประชุม นายวันมูหะมัดนอร์ ได้แจ้งว่า จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บรรจุระเบียบวาระไปแล้ว โดยจะมีการประชุมในวันที่ 14-15 ม.ค. 68