เมืองไทย 360 องศา
หากนับจาก วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ทางการเมียนมา จับกุมลูกเรือประมงไทยจำนวน 4 คน และมีลูกเรือเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง จากการเข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำในพื้นที่ทับซ้อน มาจนถึงวันนี้ วันที่ 18 ธันวาคม ลูกเรือเหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แม้ว่ามีการอ้างว่าจะมีการปล่อยตัวหลังปีใหม่ แต่ทุกอย่างยังไม่ความแน่นอน เพราะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลทหารพม่าเพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลไทยไม่สามารถสร้างแรงกดดันอะไรได้เลย
ขณะเดียวกันยังมีกรณี “ว้าแดง” เข้ามาตั้งฐานในพื้นที่บริเวณชายแดนไทยทางเหนือ ในลักษณะคุกคามประเทศไทย จากเดิมที่มีรายงานว่าทางฝ่ายไทยเจรจาให้อีกฝ่ายถอนกำลังออกไปในวันที่ 18 ธันวาคม นี้ แต่จากการสำรวจล่าสุดทางฝ่ายว้าแดง ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะถอนกำลังออกไป ขณะที่ฝ่ายไทย โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลด้านความมั่นคง ย้ำแต่เพียงว่า “ไม่ต้องการสร้างความตึงเครียด” ระหว่างประเทศ และกำลังเจรจากันอยู่
จากนั้น เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม มีรายงานว่า ศาลจังหวัดเกาะสอง ประเทศเมียนมา ได้ตัดสินคดีความของ 4 ลูกเรือประมงไทย ที่ถูกจับกุมตัวพร้อมกับลูกเรือชาวเมียนมาอีก 27 คน และยึดเรือประมงไว้ที่เกาะย่านเชือก จังหวัดเกาะสอง เมื่อ 30 พ.ย. 67 ในขณะที่กำลังทำประมงในพื้นที่ทับซ้อน
โดยศาลเมียนมาตัดสินจำคุกเจ้าของเรือไทย เป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย หรือการรุกล้ำน่านน้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาต และตัดสินจำคุก 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมจำคุก 6 ปี และปรับเงิน 200,000 จ๊าด (คิดเป็นเงินไทย 3,200บาท)
ส่วนลูกเรือไทยอีก 3 คน ศาลสั่งจำคุกคนละ 3 ปี ในข้อหาลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย และตัดสินจำคุก 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมจำคุก 4 ปี และปรับคนละ 30,000 จ๊าด ขณะที่ลูกเรือชาวเมียนมา 27 คน ศาลสั่งจำคุกคนละ 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือ 4 ลูกเรือประมงไทยในเมียนมา ว่า ขณะนี้ถูกควบคุมตัว และได้ดำเนินการโดยท้องถิ่นเมียนมา ที่เกาะสอง ซึ่งโทษที่ได้รับเป็นโทษที่ต่ำสุด เพราะมีประเด็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของเมียนมาให้ครบถ้วน จากการประสานงานเบื้องต้น คิดว่า วันที่ 4 มกราคม 68 ซึ่งเป็นวันชาติของเมียนมา จะปล่อยตัว เป็นรายงานข่าวเบื้องต้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานตั้งแต่ต้นอยู่ตลอดอยู่แล้ว และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา ก็ได้รายงานข้อมูลให้รับทราบอยู่แล้ว
ถามว่า มีข้อท้วงติงว่า ทางการไทยควรจะมีการส่งคนไปช่วยแก้ข้อกล่าวหา นายภูมิธรรม ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฝ่ายคนไทย 4 คน อยู่ในมือของเขาโดนจับด้วยข้ออ้างข้อนี้ ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ ต้องการเอาคนไทยออกมาก่อน ถ้าพูดอะไรมากไปมากกว่านี้ อาจจะมีผลต่อการกลับมา จึงไม่อยากตอบคำถามต่างๆ แต่หากกลับมาเรียบร้อยแล้ว ความชัดเจนจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกที
“คิดว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ถ้ายิ่งตอบบานปลายไปก็จะเกิดกระเทือบกับหลายเรื่อง และไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองในประเทศด้วย ขอห่วงชีวิตคนไทยก่อน” นายภูมิธรรม ระบุ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากคำพูดและท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลไทย ผ่านทางนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงแล้ว จะเห็นว่า เป็นการ “รอความหวัง” จากรัฐบาลเมียนมาว่า จะปล่อยตัวคนไทยได้เมื่อไหร่ โดยที่ฝ่ายไทยแทบไม่ได้ออกแรงกดดัน หรือมีการประท้วงใดๆ ออกมาให้เห็น โดยอ้างว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และการที่บอกว่า จะมีการปล่อยตัวในวันที่ 4 มกราคม ปีหน้า ก็ยังเป็นแค่การคาดหวัง โดยหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวเนื่องจาก เป็นวันชาติของเมียนมา ซึ่งน่าจะมีการอภัยโทษให้กับนักโทษทั่วไป
อย่าได้แปลกใจ ที่จะเกิดเสียงวิจารณ์รัฐบาลตามมาทันที เช่น นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า และเป็นเรื่องที่ตนมีความรู้สึกว่า ครอบครัวของคนที่รออยู่คงจะตั้งคำถามว่า ทางรัฐบาลไทยได้ทำอะไรกับเรื่องนี้ สิ่งที่อยากได้ความชัดเจนคือ ตกลงแล้วลูกเรือชาวไทยจะได้กลับประเทศไทยเมื่อไหร่ เพราะยังไม่ได้รับข้อมูลตรงนี้ แม้แต่วิธีการพูดคุยเจรจาหาทางออก แน่นอนว่าสุดท้ายไม่รู้ความชัดเจนที่บอกว่า หลังปีใหม่ นั้นคือเมื่อไหร่
“เพราะฉะนั้น วันนี้รัฐบาลของเรา ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากๆ ว่า รัฐบาลนี้อ่อนแอ แล้วไม่สามารถสร้างความรู้สึกให้กับพี่น้องชาวไทยได้รับรู้รับทราบว่า เขาจะปลอดภัย น่านน้ำมันไม่มีหลักหมุด ไม่มีเส้นที่ชัดเจน เป็นพื้นที่ที่ยังเจรจากันไม่ลงตัว ปลาไม่ได้สนใจว่าควรจะอยู่ในเขตประเทศไหน เรือประมงเขาก็พยายามที่จะจับปลา เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนมันมี สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยต่อประชาชน ในการที่จะทำมาหากินต่อไป สิ่งนี้ก็คงเป็นเครื่องหมายคำถาม ต่อรัฐบาลไทยต่อไปว่า ตกลงแล้วรัฐบาลจะเอาอย่างไร แล้วตกลงว่า เรื่องของคนไทย 4 คน ทำได้แค่นี้ใช่หรือไม่” นายรังสิมันต์ กล่าว
จากท่าทีและการประสานงานของรัฐบาลไทย ที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งจากกรณีของเมียนมา ที่จับกุมลูกเรือประมงไทย และมีการยิงเรือประมงไทย มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย เป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไทย ตั้งแต่ระดับรัฐบาลลงมาถึง กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคง ถือว่าทำงานน่าได้น่าผิดหวัง แม้ว่าจะต้องทำงานลับๆ เงียบๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับคนไทยที่ถูกควบคุมตัวอยู่ แต่ผลที่ออกมาก็คือ ต้องรอลุ้นให้ทางฝ่ายเมียนมาปล่อยตัวออกมาในวันชาติของเขา ในวันที่ 4 มกราคม ปีหน้า ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์
แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าไม่ใช่ต้องการให้ฝ่ายไทยไปปะทะ หรือใช้ความรุนแรงตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่อยากเห็น “แอกชัน” หรือใช้เจรจาทางการทูต การเจรจาในระดับรัฐบาล รวมไปถึงคณะกรรมการในระดับพื้นที่ที่มีการประสานงานกันในทางลับกันอยู่ตลอดเวลา แต่ทุกอย่างที่ออกมาเหมือนกับว่า การเจรจาต่อรองไม่มีความเข้มข้นออกมาให้เห็นเลย สะท้อนให้เห็นอย่างน่าผิดหวัง มองว่า “อ่อนแอ” อ่อนหัด ในเวทีระหว่างประเทศ!!