เมืองไทย 360 องศา
มติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้รับเรื่องคดีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีส่งตัวผู้ต้องขัง คือนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ โดยมีการไต่สวนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาทันที และมีความเสี่ยงสูงที่ทั้งนายทักษิณ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องอาจต้องติดคุกกันกราวรูดในบั้นปลายของชีวิต
ก่อนหน้านี้ นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กรณีกล่าวหา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และพลตำรวจโท ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กรณีส่งตัวผู้ต้องขังราย นายทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ และให้นายทักษิณ ชินวัตร อยู่รักษาที่โรงพยาบาลตำรวจจนกระทั่งครบ 180 วัน ทั้งที่ไม่เจ็บป่วยจริง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานการตรวจสอบเบื้องต้น แล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอ จึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา และดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 51
โดยให้ดำเนินการไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม12 คน ทั้งนี้หากในชั้นไต่สวนพบว่า มีบุคคลอื่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้ดำเนินการไต่สวนกับบุคคลดังกล่าวต่อไป
สำหรับการดำเนินการไต่สวนกับข้ราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 12 ราย ประกอบด้วย
1. นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ 2. นายสิทธิ สุธีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 3. นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 4. นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 5. พลตำรวจโทโสภณรัชต์ สิงหจารุ เมื่อครั้งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ 6. พลตำรวจโท ทวีศิลปี เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ 7. พันตำรวจเอก ชนะ จงโชคดี นายแพทย์ (สบ 5) โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์เจ้าของไข้ และผู้ออกใบความเห็นแพทย์
8. พลตำรวจตรี สามารถ ม่วงศิริ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ออก ใบความเห็นแพทย์ 9. นายแพทย์ วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 10. แพทย์หญิง รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ 11. นายสัญญา วงค์หินกอง พัศดีเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 12. นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร กับการรักษาตัวบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเรื่องที่สังคมรับรู้กันอยู่แล้ว และเชื่อกันว่า เขาไม่ได้ป่วยจริง หรือที่เรียกว่า “ป่วยทิพย์” นั่นเอง เป็นการใช้อำนาจและอิทธิพลโดยมิชอบ มีการช่วยเหลือ ปกปิด เพื่อเลี่ยงการติดคุก เป็นการร่วมมือกันเป็นขบวนการ
และกรณีดังกล่าวยังถือว่าเป็นการท้าทายความรู้สึกของสังคม เป็นการย่ำยีกระบวนการยุติธรรมจนป่นปี้ ขณะที่เมื่อพิจารณาพฤติกรรมของ นายทักษิณ ทั้งในช่วงการพักโทษ หรือพ้นโทษออกมาหลังจากนั้น นอกเหนือจากไม่มีอาการของคนป่วยหนักแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ถูกมองว่าครอบงำ และสั่งการพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายสำคัญต่างๆ โดยที่กฎหมายไม่สามารถเอื้อมไปถึง
อย่างไรก็ดี การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รับพิจารณากรณีดังกล่าว โดยระบุว่า “รายงานการตรวจสอบเบื้องต้น แล้วเห็นว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอ จึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง” ทำให้เห็นว่าเป็นไปตามความเห็นและความมั่นใจของสังคมที่มองแบบนี้มาตลอด เพียงแต่ว่าไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ เนื่องจากมีความพยายามร่วมด้วยช่วยเหลือจากหน่วยราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
แต่การเข้ามาไต่สวนหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในครั้งนี้ จะสามารถใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อเรียกเอกสารหลักฐาน รวมไปถึงเรียกสอบสอนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามที่มีการระบุออกมาจำนวน 12 คน และยังสามารถเรียกสอบคนอื่นๆได้อีก หากมีการเชื่อมโยงและเกี่ยวพันไปถึง
โดยก่อนหน้านี้ ยังมีพยานสำคัญ คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่เคยยืนยันว่าไปเยี่ยม นายทักษิณ ชินวัตร บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจถึง 2 ครั้ง และย้ำว่า ไม่ได้อยู่ในลักษณะของคนป่วยหนักแต่อย่างใด เป็นอาการปกติทั่วไป โดยเขาได้ให้ปากคำกับทาง ป.ป.ช.ไปแล้ว
กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถือเป็นพยานสำคัญ ถือว่าเป็นเบาะแสสำคัญนำไปเชื่อมโยงหาหลักฐานเพิ่มเติมได้อีกหลายเรื่อง สามารถย้อนกลับไปถึงต้นทาง คือจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ มาจนถึงโรงพยาบาลตำรวจ ในที่สุด
แม้ว่ากระบวนการในไต่สวนหาความจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) อาจต้องใช้เวลอีกระยะหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่าคงไม่นานนัก อีกทั้งเป็นความสนใจของสังคม ย่อมต้องมีการกดดันทวงถามอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้องนาทีนี้คงอยู่ในอาการหนาวๆร้อนๆ เพราะหาก “เผยพิรุธ” ออกมาให้เห็นเมื่อไหร่ ถือว่า “โดนแน่” และอย่างที่ทราบกันดีในทางทฤษฎีมีการรับรู้กันอยู่แล้วในวงการที่ว่า “คนทำผิดย่อมทิ้งหลักฐาน” เอาไว้เสมอ ซึ่งกรณีนี้ ก็ไม่น่าต่างกันนัก
ดังนั้น ในกรณีนี้ สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร กับพวก ถือว่า “นั่งไม่ติด” กันแล้ว เพราะหากพลาดพลั้งถึงขั้นติดคุกตอนแก่ บางคนอาจจบชีวิตราชการไม่สวย ไม่คุ้มกันเลย แต่ถึงอย่างไร ก็คงลากกันไปให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะ นายทักษิณ งานนี้ถือว่าเป็น “อาฟเตอร์ช็อก” แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเกิดความลำพอง ย่ามใจว่า ไม่มีใครทำอะไรเข้าได้ มั่นใจว่าคุมทุกอย่างเอาไว้ในมือเบ็ดเสร็จ แต่ก็โดนจนได้ มีความเสี่ยงขั้นสุด ถึงขั้นต้องกลับไปติดคุกจริงๆ ก็เป็นไปได้สูงทีเดียว !!