สสส. เปิด 7 เทรนด์สุขภาพ ปี 2568 ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ/เทคโนโลยี กระทบสุขภาพกาย-ใจคนทุกกลุ่ม ห่วงคนไทยป่วย NCDs-โรคติดต่อทางเพศพุ่ง บั่นทอนเศรษฐกิจประเทศ อึ้ง กลุ่มวัยทำงานเครียดจัด เลือกคิดสั้นเป็นทางออก สะท้อนสังคมอมทุกข์
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 ธ.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย 2568 (ThaiHealth Watch 2025) ว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data-Driven Society) พัฒนานวัตกรรม ThaiHealth Watch เพื่อนำเสนอแนวทางลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยรวบรวมองค์ความรู้จากสถานการณ์สุขภาพคนไทย ปี 2567 ประกอบกับความคิดเห็นเรื่องสุขภาพยอดนิยมบนสื่อออนไลน์ และข้อแนะนำทั้งระดับปัจเจกบุคคลและนโยบายต่อสังคม เกิดเป็นประเด็นกระแสสังคม 7 ประเด็น 1.ยิ่งเปราะบาง ยิ่งเดือดร้อน วิกฤตโลกเดือด สำนักบริการด้านสภาพแวดล้อมของสหภาพยุโรป พบปี 2566 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุด โลกร้อนขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศ ระบบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ไทยเสี่ยงจากผลกระทบสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางคือกลุ่มเสี่ยงที่สุด สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างทักษะคนรุ่นใหม่สามารถสื่อสารลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า 2.ชีวิตอมฝุ่น ตัวเลขผู้ป่วยก้าวกระโดด นโยบายก้าวไม่ทัน รายงานคุณภาพอากาศปี 2566 พบไทยมีมลพิษมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 23.3 มคก./ลบ.ม. มากกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึงเกือบ 5 เท่า โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับสูบบุหรี่ 1,224 มวน ส่งผลให้มีผู้ป่วยทางเดินหายใจกว่า 11 ล้านคนต่อปี สสส. ชวนจับตาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2-3 ในต้นปี 2568 3.เยียวยาจิตใจ ปรับพฤติกรรมใหม่ เข้าถึงการดูแลได้ทุกคน พบผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 สสส. ร่วมกับภาคีพัฒนานวัตกรรมดูแลสุขภาพจิต ภายใต้โครงการ “ประสบการณ์” เพื่อลดช่องว่างและทัศนคติระหว่างวัย 4.ต่างวัยต่างติดจอ เผชิญปัญหาต่าง กระทบชีวิตไม่แตกต่าง พฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 2565 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พบคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 7.04 ชม./วัน แต่กลับมีความรู้ด้านการป้องกันภัยออนไลน์ต่ำ ส่งผลให้เสพติดพนันออนไลน์ โดนกลั่นแกล้ง คุกคามทางเพศ สสส. ได้ผลักดันกลไกเครือข่ายสร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อทุกกลุ่มวัย เพื่อเฝ้าระวังและลดภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ
นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า 5.เด็กอ้วนเพิ่ม ผู้ใหญ่ความดันพุ่ง ทำสุขภาพทรุด เศรษฐกิจโทรม พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สูงถึง 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็น 4 แสนคนต่อปี เด็กที่อ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มจาก 4.8 ล้านคนในปี 2566 เป็น 5.3 ล้านคนในปี 2583 ซึ่งสาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มชง เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป สสส. เร่งสานพลังภาคีเครือข่าย สร้างงานวิชาการ ผลักดันนโยบายระดับประเทศ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงพฤติกรรมสุขภาพ 6.โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ เติมความรู้ให้แน่น ก่อนจะเล่นกับความรัก พบคนไทยป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 28.8 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เป็น 53 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2566 สสส. พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เครื่องมือสำหรับทุกกลุ่มวัยในเว็บไซต์ www.คุยเรื่องเพศ.com เน้นให้ความรู้ตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปถึงความเข้าใจสิทธิทางเพศ
“7.การตลาดบุหรี่ไฟฟ้า ภาพหวานเหมือนขนม ซ่อนพิษขมสำหรับเด็ก ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพปี 2566 พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% จากการตลาดที่มุ่งเน้นกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ โดยออกแบบผลิตภัณฑ์สีสันสดใส ทันสมัย และกลิ่นหอม โฆษณาว่าเป็นสินค้าที่เท่และปลอดภัย ประกอบกับผู้ปกครองขาดความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สสส. มุ่งเป้าลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ มีนโยบายสนับสนุน 5 มาตรการ 1.พัฒนาองค์ความรู้ 2.สร้างความตระหนักรู้ 3.เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย 4.พัฒนาศักยภาพเครือข่าย 5.ผลักดันนโยบายและมาตรการป้องกัน ทั้งนี้ ThaiHealth Watch 2025 เป็นเครื่องมือสำคัญกระตุ้นสังคมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงนวัตกรรมสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม ติดตามข้อมูลได้ที่ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/healthtrend และสามารถรับข้อมูลสุขภาพเฉพาะรายบุคคลได้ที่แอปพลิเคชัน Persona Health” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญส่งผลให้การลดโรค NCDs ทำได้ยาก คือ 1.นวัตกรรม ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม และพฤติกรรมของคน เช่น การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ อาหารแปรรูป 2.การตลาดที่กระตุ้นการบริโภค 3.บุหรี่ไฟฟ้าและกัญชา เข้าถึงได้ง่าย 4.ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ PM2.5 ทำให้ออกกำลังกายนอกอาคารไม่ได้ 5.ปัญหาความเครียด สุขภาพจิต 6.รางวัลที่ให้ตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการกินเกินพอดี
“1 ในสิ่งสำคัญที่ สสส. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานป้องกันและลดอัตราป่วยด้วยโรค NCDs สื่อสารรณรงค์ให้ความรู้ จุดประกายการเปลี่ยนแปลง เช่น สสส. ขับเคลื่อนเรื่องเหล้าในกลุ่มผู้หญิง เหล้ามีผลต่อมะเร็งเต้านม ทำให้อัตราการดื่มในกลุ่มผู้หญิงลดลง หรือกรณีบุหรี่ไฟฟ้า เรื่องไอบุหรี่เกาะปอดไม่สามารถล้างไม่ได้ รวมถึงจุดประกายการตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้ง่าย เช่น แคมเปญ “ไขมันเริ่มสลายเมื่อออกกำลังกายอย่างน้อย 10 นาที” สร้างกระแสสังคมเพื่อปรับพฤติกรรมเสี่ยง เรื่องงดเหล้าเข้าพรรษา” น.ส.สุพัฒนุช กล่าว
ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปี 2566 คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย 7.9 คนต่อประชากรแสนคน และยังมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตกลับเป็นสาขาที่มีจำนวนจำกัด มีจิตแพทย์ 1,000 คน นักจิตวิทยา 1,000 คน ซึ่งการจะเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า 10 ปีข้างหน้า สุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มวัยทำงาน พบมีความเครียดในการทำงาน 42.7% ในจำนวนนี้มีภาวการณ์ฝืนทำงานแม้มีปัญหาสุขภาพจิต 27.5% การรักษาในโรงพยาบาลจึงอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
“แนวทางการสร้างนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง 1.เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ 2.อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 3.เพิ่มสวัสดิการการลา 4.ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา 5.สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร 6.เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน ช่วยให้พนักงานเข้าถึงการได้รับบริการหรือการส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพใจ” ดร.เจนนิเฟอร์ กล่าว