“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ได้รับรางวัล “กวีดีเด่นเกียรติยศ” ขณะที่ “นายทิวา - เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” รับรางวัล “กวีดีเด่นแห่งปี” ในเทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าว ครั้งที่ 7 นับเป็นครั้งแรกที่มี “กวีไทย” ได้รับรางวัลนี้
วันนี้ (17 ธ.ค. 2567) คณะกรรมการจัดงานเทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าว (BOAO) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาบทกวี “หวงหย้าโจว” และสมาคมวิญญูชนไทย-จีน จัดงาน “เทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าว ครั้งที่ 7” เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและสนับสนุนงานด้านวรรณกรรมของนานาประเทศ ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาโดยมีตัวแทนกวีกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมงาน และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานในประเทศไทย
งานเทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าว ครั้งที่ 7 นี้ ได้จัดพิธีมอบรางวัล กวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าว ครั้งที่ 7, รางวัลกวีนิพนธ์หวงหย้าโจว ครั้งที่ 6 และรางวัลกวีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 11 ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุม ชั้น C โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์ กรุงเทพฯ (GRANDE CENTRE POINT SURAWONG - BANGKOK) โดยมีผู้แทนด้านวรรณกรรมจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมงาน อาทิ นายหวงหย้าโจว อดีตรองประธานสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน นายเว็นตง แซ่ฟู่ นายกสมาคมวิญญูชนไทย-จีน พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานด้านวรรณกรรมของจีน และตัวแทนกวีจากนานาประเทศ
ขณะที่ผู้แทนจากประเทศไทยและผู้แทนหน่วยงานด้านวรรณกรรมในประเทศไทยเข้าร่วมงาน และร่วมแสดงความยินดีกับกวีไทยที่ได้รับรางวัลอย่างคับคั่ง อาทิ พลเอก เทอดศักดิ์ ดำขำ อดีตประธานที่ปรึกษา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ว่าที่ พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ประธานอนุกรรมาธิการด้านกิจการทหาร วุฒิสภา นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล ที่ปรึกษาสมาคมนักแปลแห่งประเทศไทย รศ.ดร.สุปาณี พัดทอง นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยและประธานกองทุนอนุสรณ์สุนทรภู่ นางชุติมา เสวิกุล ประธานชมรมรักการอ่าน เขียน กับประภัสสร เสวิกุล ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ.ดร.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ อุปนายกสมาคมภาษาและหนังสือฯ ผศ.ดร. วรวุฒิ ภักดีบุรุษ กรรมการสมาคมภาษาและหนังสือฯ นายยุทธ โตอดิเทพย์ ประธานสถาบันฯกวีนิพนธ์ไทย นายชเล วุทธานันท์ นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย และนายกฤษฎา จงขจรสุข กรรมการและผู้แทนกองทุนศรีบูรพา นางสาวแสงทิวา นราพิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม นายยงยุทธ ใจซื่อดี สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จิตรา ก่อนันทเกียรติ นักเขียนไทยผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน และนายชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ผู้แทนมูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากลและกองทุนสุนทรภู่ศึกษา
พิธีมอบรางวัลใหญ่ที่สุดของงานคือ “รางวัลโป๋อ๋าว” ซึ่งมีกวีไทย 2 คน ได้รับรางวัล ได้แก่ ประเภท “กวีดีเด่นเกียรติยศ” (The Outstanding Achievement Award) และประเภท “กวีดีเด่นแห่งปี” (Poet of The Year)
“รางวัลโป๋อ๋าว” ประเภท “กวีดีเด่นเกียรติยศ” (The Outstanding Achievement Award) ได้แก่ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” จากประเทศไทย และ “Les Wicks” กวีจากประเทศออรเตรเลีย
ขณะที่ประเภท “กวีดีเด่นแห่งปี” (Poet of The Year) ได้แก่ “นายทิวา - เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” จากประเทศไทย Tao Jie, A Fei, และ Xie Shengmei จากประเทศจีน และ Alexander Selimov จากประเทศสหรัฐอเมริกา รวม 5 คน และนอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัลกวีนิพนธ์หวงหย้าโจว ครั้งที่ 6 และรางวัลกวีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 11 อีกด้วย
นายหวงหย้าโจว ประธานมูลนิธิพัฒนาบทกวี “หวงหย้าโจว” และอดีตรองประธานสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน หนึ่งในคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า เทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าวได้เริ่มต้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ดำเนินการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาแล้วรวม 6 ครั้ง และจัดขึ้นในประเทศจีน โดยการจัดงานทุกครั้งประสบความสำเร็จด้วยดี มีตัวแทนกวีกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมงาน และการจัดงานในครั้งที่ 7 นี้ นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยตัวแทนกวีจากนานาประเทศที่เข้าร่วมงานต่างมีความประทับใจต่อเมืองไทยและการจัดงานครั้งนี้เป็นอย่างมาก
“การคัดเลือกกวีที่ได้รับรางวัลนั้น มีการเสนอชื่อมาจากประเทศต่างๆ ทั้งจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
จากนั้นคณะกรรมการแต่ละคณะจะพิจารณาจากผลงานการสร้างสรรค์ของกวีแต่ละคนที่ได้รับการเผยแพรต่อนานาชาติ และลงคะแนนเสียงเพื่อคัดเลือกรางวัลในแต่ละประเภท พร้อมกันนี้ก็ขอแสดงความยินดีต่อกวีผู้ได้รับรางวัล และหวังให้เป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานบทกวีอันหลากหลาย เพื่อเชื่อมโยงโลกนี้ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” นายหวงหย้าโจวกล่าว
ขณะที่ นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผู้แทนกล่าวเปิดงานของประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยกับประเทศจีนมีความสัมพันธ์กันมายาวนานทั้งในมิติด้านประวัติศาสตร์และสังคมร่วมสมัย ด้วยเหตุนี้อิทธิพลด้านความเชื่อ และคตินิยมด้านภาษาและวัฒนธรรมจึงปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมวัฒนธรรมของกันและกันอยู่เสมอ โดยในโลกที่แคบลงด้วยการสื่อสาร และวาทกรรมโลกาภิวัฒน์ ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการประสานความเข้าใจระหว่างกันและกันได้ในท่ามกลางความแตกต่าง การใช้ศิลปะโดยเฉพาะวรรณกรรมเป็นสะพานเชื่อมย่อมนำมาซึ่งความเข้าใจร่วมกัน
นางนรีภพ กล่าวด้วยว่า สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานด้าน “วรรณกรรมสัมพันธ์” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมด้านวรรณกรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี 2546 ในสมัยที่นายประภัสสร เสวิกุล เป็นนายกสมาคมนักเขียนฯ และในปี 2548 ได้จัดพิมพ์หนังสือ “ร้อยมาลัยร้อยใจไร้พรมแดน” ขึ้น ต่อมาในปี 2553 ในสมัยที่นางชมัยภร บางคมบาง เป็นนายกสมาคมนักเขียนฯ ก็ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี และสมาคมนักเขียนกว่างซี จัดพิมพ์หนังสือชื่อ “ดอกไม้สองแผ่นดิน” อีกด้วย
“การจัดงานเทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าว ครั้งที่ 7 และเป็นการจัดงานนี้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี จึงขอขอบคุณคณะผู้จัดการมา ณ ที่นี้ รวมทั้งขอแสดงความยินดีต่อกวีไทยทั้ง 2 ท่านที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัล และด้วยความงามและพลังของวรรณกรรม จะเป็นความหวังให้เราได้เรียนรู้ระหว่างกันมากขึ้น และจะนำพาให้ผู้คนทั้งหลายร่ำรวยในพลังและร่ำรวยในความสุขมากขึ้นด้วย” นายกสมาคมนักเขียนฯ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ งานเทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติโป๋อ๋าว ครั้งที่ 7 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ยังได้มีการก่อตั้งและจัดประชุมนานาชาติของ “Poets International Pen Club” ณ Conference Room โรงแรมเมเปิล กรุงเทพฯ โดยได้แต่งตั้ง “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” และ “นายทิวา-เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” เป็นคณะกรรมการของ “Poets International Pen Club” เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานวรรณกรรมและบทกวีนานาชาติต่อไป