xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนเสียปราสาทพระวิหารต่อ MOU44 เขมรวางหมากรอขึ้นศาลโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ยกบทเรียนไทยเสียปราสาทพระวิหาร แม้ไทยเคยปฏิเสธแผนที่ฝรั่งเศสช่วงแรก แต่การเจรจาหลายครั้งหลังจากนั้นไทยไม่เคยทักท้วง ศาลโลกจึงตัดสินว่าไทยได้ยอมรับโดยปริยาย MOU44 ไทยเสี่ยงเสียดินแดนซ้ำรอย เพราะเขมรวางหมาก ไม่ยอมรับรอง UNCLOS 1982 ที่ยึดตามหลักกฎหมายทะเลสากล แต่หวังจะขึ้นศาลโลกที่มีแนวทางการพิจารณาคดีโดยยึดตามพฤติกรรมของคู่กรณีเป็นหลัก

วันที่ 15 ธ.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ในหัวข้อเรื่อง “บทเรียนเขาพระวิหารต่อ MOU44” โดยระบุว่า

ผู้ใดคิดว่า การที่ MOU44 รับรู้เส้นเขตไหล่ทวีป และเส้นทะเลอาณาเขตของกัมพูชา ที่รุกล้ำทะเลอาณาเขตของไทย แต่ไทยไม่มีความเสี่ยงใดๆ นั้น ควรย้อนดูบทเรียนคดีเขาพระวิหาร


รูป 1 เป็นหน้าแรกของคำพิพากษา และในรูป 2-4 ศาลโลกสรุปจากการสืบพยานทั้งสองฝ่าย

[ผมอธิบายว่า สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 กำหนดเขตแดนไทย-กัมพูชาโดยใช้แนวสันปันน้ำ ซึ่งตามแนวนี้ อาคารพระวิหารอยู่ด้านฝั่งไทยของสันปันน้ำ
แต่ปัญหาเกิดขึ้น จากการที่ฝรั่งเศสทำแผนที่ที่ลากเส้นเขตแดนเว้าเข้ามาในด้านฝั่งไทยของสันปันน้ำ ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งของอาคารพระวิหารไปอยู่ในเขตแดนกัมพูชาซึ่งผิดกับข้อตกลง]


รูป 2 ศาลโลกสรุปว่า สยามเป็นฝ่ายขอให้ทหารฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำแผนที่เส้นเขตแดน ต่อมามีการส่งแผนที่ซึ่งแสดงอาคารพระวิหารอยู่ในกัมพูชาให้สยามในปี ค.ศ. 1908

ฝ่ายไทยต่อสู้ว่าแผนที่ดังกล่าวไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งศาลโลกเห็นด้วยว่าในวาระแรกเป็นเช่นนั้น แต่ถือเป็นการนำส่งผลงาน

ศาลโลกระบุว่า สยามไม่ได้โต้แย้งเรื่องอาคารพระวิหาร ไม่ว่าในปี ค.ศ.1908 หรือในหลายปีหลังจากนั้น จึงเป็นการยอมรับโดยปริยาย


รูป 3 ศาลโลกระบุว่า ถึงแม้ไทยใน ค.ศ. 1934-1935 มีการสำรวจและจัดทำแผนที่เส้นเขตแดนที่เป็นตามสันปันน้ำ แต่ไทยก็ยังมีการพิมพ์ใช้แผนที่ฝรั่งเศสเดิม

และในการเจรจากับฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1925 และ 1937 และสืบเนื่องที่กรุงวอชิงตันใน ค.ศ. 1947 ไทยก็ไม่ได้ทักท้วงเรื่องนี้

ในปี ค.ศ.1930 กรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปที่อาคารพระวิหาร ผู้ที่ทำหน้าที่ต้อนรับเป็นทางการก็คือผู้ว่าราชการฝรั่งเศสที่คุมพื้นที่ในกัมพูชา ไทยก็ไม่ทักท้วงอีกเช่นกัน


รูป 4 จากการที่ไทยไม่ได้ประท้วงทั้งที่มีโอกาสหลายครั้ง ศาลโลกจึงวินิจฉัยว่าไทยได้ยอมรับไปโดยปริยาย

ผมขอแนะนำให้รัฐมนตรีพรรคร่วมจดจำประสบการณ์คดีเขาพระวิหารให้ดี

เพราะถึงแม้กัมพูชาร่วมร่างอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเลฉบับที่สองใน ค.ศ. 1982 แต่ผ่านมา 42 ปี ก็ยังไม่รับรอง


รูป 5 ทั้งนี้ กรณีมีข้อโต้แย้งเรื่องทะเลระหว่างสองประเทศที่รับรองอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982

จะฟ้องร้องและพิจารณาโดยศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ

รูป 6 ซึ่งเป็นศาลที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทะเลโดยเฉพาะ และมีคนไทยคือ ศ.เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เป็นผู้พิพากษาคนหนึ่ง


ในรูป 5 จะเห็นได้ว่า ไทยไม่สามารถฟ้องร้องกัมพูชาต่อศาลนี้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ เพราะกัมพูชายังไม่รับรอง UNCLOS 1982

แต่ในทางกลับกัน กัมพูชาสามารถฟ้องร้องไทยต่อศาลโลกในข้อโต้แย้งทางทะเลได้

ทั้งนี้ ถ้าดูประเด็นที่ศาลโลกนำมาประกอบการวินิจฉัย จะเห็นได้ว่า ศาลโลกให้น้ำหนักต่อพฤติกรรมของคู่กรณีมาก

คือให้น้ำหนักต่อเหตุการณ์แวดล้อม circumstancial evidences มากกว่าเนื้อความในข้อตกลง

ดังเห็นได้ท้ายคำพิพากษา ว่า ไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อต่อสู้ของไทย ที่แถลงว่าเส้นในแผนที่ฝรั่งเศส ไม่ตรงกับแนวสันปันน้ำ

น่าจะผิดกับกรณีศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งต้องตีความเฉพาะตามอนุสัญญา

น่าจะด้วยเหตุนี้ กัมพูชาจึงไม่ยอมรับรอง UNCLOS 1982

สรุปแล้ว กัมพูชาวางหมากให้ตัวเองได้เปรียบอย่างแยบยล ส่วนไทยเดินตกหลุมพรางด้วย MOU44

เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่า ศาลโลกที่เคยตัดสินให้ไทยแพ้เรื่องคดีเขาพระวิหาร จะไม่หยิบยกประเด็นอื่น ที่ออกไปนอกเรื่องจากกฎหมายทะเลมาพิจารณา หรือไม่

ดังนั้น MOU44 จึงไม่ใช่เอกสารเจรจากันเฉยๆ แต่ไปก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อไทยโดยไม่จำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น