“ศวปถ.” ชี้แม้อุบัติเหตุลด แต่สุดอ่อนไหว ยกนโยบายรัฐขยายเวลากิน ดื่ม แต่มาตรการคุมคนเมาลงถนนเหลว ยันหากมีมาตรการแค่นี้รับมือเจ็บตายปีใหม่ ไม่ได้แน่ แนะจำคุกจริง “พระครูสุราษฎร์” ระบุ น้ำเมาทำขาดสติ เสี่ยงจากคนดื่มกลายเป็นฆาตกร กรรมติดตัวถึงชาติหน้า ด้าน ธีระ ผอ.สคล. เผย แก้ พรบ.คุมน้ำเมาเพิ่มโทษขายให้คนเมา สูงกว่าเดิมห้าเท่า เหยื่อฟ้องแพ่งผู้ขายได้ คาดมีผลบังคับใช้ปีหน้า
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2568 และ เวทีเสวนา “หยุดฆาตกร(ดื่มแล้วขับ) ก่อนเทศกาล(ปีใหม่)” โดยนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 รายงานว่าคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเหลือ 28 % โดยผู้ชายดื่ม 46.4% ผู้หญิงดื่ม 10.8 % มีแนวโน้มลดลงจากปี 2560 ที่พบการดื่มอยู่ที่ 28.40% อย่างไรก็ตาม รายงานระบุคนอายุ 15 ปีขึ้นไป 57 ล้านคนดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาประมาณ 5.73 ล้านคน หรือ 10.05% แต่ถือว่าค่อยๆ ลดลงจาก 13.95% ในปี 2557 มาเป็น 11.9% ในปี 2560 ถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ถึงอย่างนั้นยังเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะการดื่มแล้วขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 มีผู้เสียชีวิต 34.05% ในจำนวนนี้เป็นคนอายุต่ำกว่า 20 ปี 16.75% และยังพบว่า 1 ใน 4 ของความรุนแรงในครอบครัวมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วม ที่น่าห่วงคือ 75% ถูกกระทำซ้ำ
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรารณรงค์ให้เหล้าเท่ากับแช่ง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสุขภาพ สังคม ทั้งทางตรงทางอ้อม สำหรับเทศกาลปีใหม่ ปี 2568 สสส. ยังคงต่อยอดเรื่องการ “ให้เหล้า เท่ากับแช่ง” พร้อมขยายค่านิยมการไม่ให้ ไม่รับแอลกอฮอล์ ไปสู่งานเฉลิมฉลองอื่นๆ ด้วย อาทิ ฉลองตำแหน่งใหม่ เปิดร้านใหม่ วันเกิด และอื่นๆ เพื่อให้งานเฉลิมฉลองมีแต่เรื่องราวดีๆ โดยมีการโฆษณาทางออนไลน์ เกมโชว์-ให้เหล้าเท่ากับแช่ง เนื้อหาแสดงถึง การนำรูปแบบเกมโชว์ท้าทายความสามารถในการตอบคำถามว่า “คนไทยส่วนใหญ่จะให้อะไรเป็นของขวัญในงานฉลองต่างๆ ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายหวังว่าทุกคนจะมีช่วงเวลาดีในเทศกาลปีใหม่ จำนวนอุบัติเหตุลดลงหรือไม่มากไปกว่านี้
นายธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์ นักวิจัยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุดื่มแล้วขับของไทยมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีความอ่อนไหวสูงต่อปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เช่น กรณี รัฐบาลมีนโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แนวโน้มอุบัติเหตุพร้อมจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ มีรายงานข่าวอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับต่อเนื่องทุกวัน ที่สำคัญคือมีคนเสียชีวิตเกือบทุกครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของคนที่ดื่มแล้วขับ บางรายบาดเจ็บ พิการจนไม่สามารถมีชีวิตกลับมาได้ดังเดิม ผลที่เกิดขึ้นมาจากมาตรการควบคุมไม่ให้คนดื่มแล้วขับยังไม่ได้ผล ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการต้นน้ำควบคุมสถานบันเทิง ผับบาร์ ที่เป็นเพียงการขอความร่วมมือ มาตรการกลางน้ำที่เครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังพล งบประมาณ มีข้อจำกัด และ มาตรการปลายน้ำ คือบทลงโทษ การตัดสินคดี ที่มองว่ามนุษย์ผิดพลาดได้ มองคดีเมาขับ ไม่ใช่เรื่องเจตนา จึงลงโทษเพียงการปรับและรอลงอาญาเท่านั้น ตนเชื่อว่าเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ มาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับความรุนแรงของปัญหาได้ แต่ถ้าขยับมาตรการเพิ่มขึ้นอีก 1 ระดับ เช่น หากปีใหม่ ศาลสั่งลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับ ติดคุกสถานเดียว ไม่มีการรอลงอาญา เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิดดื่มแล้วขับ
พระครูสุราษฎร์ เตชวโร กล่าวว่า ช่วงก่อนบวช ตนไปร่วมงานเลี้ยงใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจวัดปริมาณได้ 120 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขากลับขับรถออกจากซอย ยูเทิร์นประมาณ 200 เมตร ขับผ่านมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แล้วชนเข้ากับแบริเออร์ ทำให้รถเสียหลักพลิกข้ามเกาะกลางถนนไปอีกฝั่งก่อนจะชนนักศึกษา 2 คน เสียชีวิต ทำให้รู้สึกผิดและเสียใจมาก จึงสารภาพผิดเยียวยาทางแพ่งให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตประมาณกว่า 2 ล้านบาท และทางอาญาศาลพิพากษาจำคุก รอลงอาญา 2 ปี จากนั้นตนก็ตระเวนไหว้พระ รดน้ำมนต์ แก้กรรม ทำทุกอย่างแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร คิดตลอดว่าหากต้องติดคุกเรายังออกมามีชีวิตต่อไปได้ แต่ทั้งสองที่สูญเสียไป เขากลับมาไม่ได้อีกแล้ว ครอบครัวย่อมเจ็บปวดกว่าเรามากมายนัก จึงตัดสินใจบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต และตั้งใจจะบวชไปตลอดชีวิต ทุกวันนี้จะเดินสายเป็นวิทยากรเล่าความผิดพลาดของตัวเองเพื่อเตือนใจให้ดื่มไม่ขับ ซึ่งดีที่สุดคือไม่ดื่ม และหวังไว้ว่าอยากมีโอกาสขออโหสิกรรมกับครอบครัวทั้งสองซักครั้ง
“การดื่มเหล้าเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ทุกวันที่อาตมาไปแสดงธรรม หรือพูดกับใครจะพูดเสมอว่า การดื่มเหล้าทำให้เราขาดสติ สติพร่อง สติไม่สมบูรณ์ เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ อย่างศีล 5 ข้อ นั้น ข้อที่งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้นสำคัญที่สุด เพราะทำให้ขาดสติ และจะทำให้เราทำผิดศีลข้ออื่นๆ ได้ แล้วความรู้สึกผิด หากมีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือพิการ การใช้เงินเยียว หรือรับผิดทางกฎหมายได้ แต่กฎแห่งกรรมที่เกิดขึ้นไม่มีวันหายไป แม้แต่ตัวเราตายไปแล้วยังติดตามไปถึงชาติหน้า” พระครูสุราษฎร์ กล่าว
ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ปัจจุบันมีการแก้ไขพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้มีการเพิ่มโทษผู้ที่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และขายให้คนเมา มีโทษสูงกว่าเดิมถึง 5 เท่า และผู้ที่เป็นเหยื่อจากคนเมานั้น สามารถฟ้องผิดทางแพ่งกับผู้ที่ขายให้เด็กหรือคนเมาที่ก่อเหตุได้ด้วย เป็นการเพิ่มความรับผิดของผู้ขาย และเป็นความก้าวหน้าของกฏหมายเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช่ในปีหน้า อย่างไรก็ตามตนเสนอว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อให้ปัญหาดื่มแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุเจ็บ ตายลดลง เช่น การแก้ไข พรบ. จราจร เพิ่มโทษเพื่อตัดวงจรคนทำผิดรอลงอาญา แก้ไข พรบ.สถานบริการ ให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น