xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” โต้ “นพดล” ยันไทยเสียดินแดนแน่หากเดินหน้า MOU44 อย่ามาอ้างไม่ยอมรับเส้นเขมร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” โต้ “นพดล” ยันไทยเสียดินแดนแน่ หากเดินหน้าเจรจาตาม MOU44 อย่างน้อยๆ ก็ทะเลรอบเกาะกูด อย่าอ้างว่า MOU ไม่ยอมรับเส้นกัมพูชา แค่รับรู้ก็เสี่ยงเสียดินแดนแล้ว ชี้แผนที่แนบท้ายไม่ใช่แค่สะท้อน 2 เส้นที่อ้างสิทธิ แต่เป็นการกำหนดเขตพัฒนาร่วม ทั้งที่เส้นของกัมพูชาผิดกฎหมาย ยันถึงยกเลิกก็ไมได้ปิดทางเจรจา สามารถทำ MOU ใหม่ได้ และเพื่อไม่ให้เสี่ยงเสียดินแดน ให้ทำ MOU ว่าด้วยพื้นที่พัฒนาร่วมปิโตรเลียมอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับเขตแดน

วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กThirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ตอบนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับ MOU2544 ดังนี้

ตอบนายนพดล

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ โต้กับผู้เรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 ซึ่งผู้ที่ตอบได้ชัดเจนคือ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี

ผมจึงจะเพิ่มเติมข้อมูลบางประการ ตอบท่านทีละข้อ

**ข้อหนึ่ง ท่านเรียกร้องว่า "อย่าใช้ความเท็จมาโจมตีรัฐบาล เช่น ถ้าเจรจาตาม MOU44 จะทำให้เสียดินแดน ซึ่งไม่จริง"
--ผมตอบแนะนำให้ท่านดูรูป 1 ท่านจะเห็นได้ว่ากัมพูชาขีดเส้นอาณาเขตประเทศรุกล้ำเข้าในอาณาเขตไทย คือทะลุเข้ามาในกรอบ 12 ไมล์ทะเลจากฝั่งของเกาะกูด


เนื่องจากอาณาเขตไทยนับพื้นที่บนบก(เกาะกูด) รวมกับพื้นที่ในทะเลอาณาเขต(12 ไมล์ทะเลจากเกาะกูด) และกัมพูชาก็ขีดเส้นเขตไหล่ทวีปใช้จุดเริ่มต้นซ้อนกับเส้นที่รุกล้ำเข้าในอาณาเขตไทย

ดังนั้น การที่ MOU44 รัฐบาลไทยไปรับรู้การรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตไทย จึงย่อมทำให้ไทยเสี่ยงจะเสียดินแดน โดยขั้นแรก เสียดินแดนในทะเลใต้เกาะกูด

**ข้อสอง ท่านกล่าวว่า "คงไม่มีรัฐบาลไหนไร้จิตสำนึกจนทำให้ไทยเสียดินแดน"
--ผมตอบว่า ท่านไม่มีหน้าที่อ้างเครดิตให้แก่รัฐบาล แต่ท่านควรจะแนะนำให้รัฐบาลนี้ ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนคลายใจไร้กังวลในเรื่องเสี่ยงเสียดินแดน

**ข้อสาม ท่านกล่าวว่า "ไม่มีเนื้อหาตอนใดของ MOU44 ที่ยอมรับเส้นของกัมพูชา"
--ผมตอบว่า MOU44 ไปรับรู้เส้นของกัมพูชา แค่นี้ ก็ไปก่อความเสี่ยงแก่ประเทศไทยโดยไม่จำเป็นแล้ว

**ข้อสี่ ท่านกล่าวว่า "แผนผังแนบท้าย MOU44 เพียงสะท้อนเส้น 2 เส้นที่กัมพูชาและไทยประกาศ"
--ผมตอบว่า ประชาชนมีข้อสงสัยจากพิรุธเหล่านี้
1 กระทรวงต่างประเทศสามารถเสนอร่าง MOU ให้ตั้งคณะทำงาน เพียงเพื่อเจรจากำหนดอาณาเขตของพื้นที่พัฒนาร่วม Joint Development Area JDA โดยไม่ไปกำหนดอาณาเขตที่ขัดกฎหมายสากลให้เกิดขึ้นเสียก่อน เหมือนในขั้นตอนไทย-มาเลเซีย
คือเป็นการไปเร่งคลอดลูก ทั้งที่ไม่ให้เวลาตั้งครรภ์ อันเป็นการลัดขั้นตอนที่แปลกประหลาดน่าสงสัย
แต่ทำไมกลับไม่ทำ?

2 กระทรวงต่างประเทศกลับไปเสนอ MOU ที่กำหนดอาณาเขตของพื้นที่พัฒนาร่วม Joint Development Area JDA ไทย-กัมพูชาไปเลย ทั้งที่ยังไม่มีการเจรจาว่าเส้นกรอบอาณาเขตดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ ทั้งที่รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นของกัมพูชาผิดกฏหมายสากล

3 กระทรวงต่างประเทศยอมรับอาณาเขตของพื้นที่พัฒนาร่วม Joint Development Area JDA ไทย-กัมพูชาที่ไม่เป็นไปตามกฏหมายสากล และที่ทำให้กัมพูชาได้รับส่วนแบ่งปิโตรเลียมในพื้นที่กว้างขวางเกินกว่ากฎหมายสากล นั้น ทำไมกระทรวงต่างประเทศไม่ตระหนักว่า ไม่เป็นธรรมต่อคนไทย

4 อดีตนายกทักษิณและนายกแพทองธารแสดงจุดยืน ให้แบ่งปิโตรเลียม ทั้งที่อาณาเขตของพื้นที่พัฒนาร่วม Joint Development Area JDA ไทย-กัมพูชาที่แสดงใน MOU44 ไม่เป็นไปตามกฏหมายสากล ทำไมสองท่านจึงไม่กังวลว่าคนไทยจะเสียประโยชน์ จะถูกแบ่งปิโตรเลียม 20 ล้านล้านบาทเกินกว่าที่ควร

5 เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจแบบง่าย
ถ้าหากเพื่อนบ้านของนายนพดล ขีดเส้นอาณาเขตรุกล้ำเข้ามาในบ้านของท่าน โดยผิดกฎหมายโดยพลการ ปรากฏว่าตกลงกันไม่ได้ เพื่อนบ้านไม่ยอมยกเลิกเส้นดังกล่าว
ช่วยตอบว่า ท่านจะยอมแบ่งพื้นที่ให้ใช้ร่วมกัน หรือไม่?

**ข้อห้า ท่านกล่าวว่า "ข้อ 5 ของ MOU44 ปกป้องสิทธิฝ่ายไทยไว้ตามที่ระบุไว้ว่า ตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่าเนื้อหา MOU44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา"
--ผมตอบว่า มองในมุมกลับ ข้อ 5 นี้ เป็นการปกป้องสิทธิ์ของฝ่ายกัมพูชาเช่นกัน แต่กลับทำให้ไทยเสียเปรียบ

สาเหตุที่ไทยเสียเปรียบเพราะ เส้นของไทยลากตามกฏหมายสากล แต่เส้นของกัมพูชาไม่ได้ลากตามกฏหมายสากล และบัดนี้ MOU44 ได้ไปรับรู้การมีอยู่ของเส้นนี้แล้วอย่างเป็นทางการ

**ข้อหก ท่านกล่าวว่า "แทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมาใช้ MOU44 เจรจากับกัมพูชาก็ไม่เห็นมีการคัดค้าน"
--ผมตอบว่า ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศไม่ได้เปิดเผยเอกสารหลักฐานและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก

นอกจากนี้ น่าจะไม่ได้แจ้งรัฐบาลที่ผ่านมาว่า MOU44 มีสถานะเป็นสนธิสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจของรัฐบาลไทย ที่ไม่ได้เสนอต่อรัฐสภา จึงเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

**ข้อเจ็ด ท่านกล่าวว่า "หลังยกเลิก MOU44 การประกาศเขตไหล่ทวีปของแต่ละฝ่ายก็จะยังคงอยู่ พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตรก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปพร้อมกับ MOU"
--ผมตอบว่า ถึงแม้การอ้างสิทธิ์ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร (16.2 ล้านไร่) จะยังคงอยู่ แต่ความเสี่ยงจะเสียดินแดนทะเลอาณาเขตรอบเกาะกูดจะหมดไป

**ข้อแปด ท่านกล่าวว่า "(เมื่อยกเลิก MOU44) ไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้ ตนไม่เห็นว่าใครจะได้ประโยชน์"
--ผมตอบว่า อย่าไปคิดเอาประโยชน์ปิโตรเลียมแลกกับดินแดนเลยครับ

**ข้อเก้า ท่านกล่าวว่า "(เมื่อยกเลิก MOU44) ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีความผูกพันที่จะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไปแบบผูกติดกัน"
--ผมตอบว่า การที่กระทรวงต่างประเทศออกแบบ MOU44 ให้ต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไปแบบผูกติดกันนี่เอง กลับเป็นอุปสรรคทำให้การเจรจาไม่มีทางสำเร็จ

ถ้าท่านหวังจะเรียกร้องให้กัมพูชา ประกาศยกเลิกกฤษฎีกาไหล่ทวีปและกฤษฎีกาทะเลอาณาเขต ทั้งสองฉบับ เพื่อขีดทั้งสองเส้นขึ้นใหม่ตามกฏหมายสากล ผมเห็นว่า มีความเป็นไปได้ในทางการเมืองกัมพูชาน้อยมาก

ถ้าท่านหวังจะให้คนไทยยอมรับการแบ่งประโยชน์ในอาณาเขตของพื้นที่พัฒนาร่วม Joint Development Area JDA ไทย-กัมพูชา ที่กำหนดใน MOU44 ที่กว้างขวางเกินเหตุ และที่ไม่เป็นไปตามกฏหมายสากล ผมเห็นว่า คนไทยจะไม่ยอมอย่างเด็ดขาด

**ข้อสิบ ท่านกล่าวว่า "(การยกเลิก MOU44) จะเป็นการไปยกเลิกช่องทางการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศไปทำไม ฟังดูย้อนแย้ง"
--ผมเสนอแนะให้ยกเลิก MOU44 แล้วทำ MOU68 จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากำหนดอาณาเขตของพื้นที่พัฒนาร่วม Joint Development Area JDA ไทย-กัมพูชาขึ้น โดยอ้างอิงกฎหมายสากล ใช้เฉพาะเกี่ยวกับการพัฒนาปิโตรเลียม

สาเหตุที่ MOU44 ก่อปัญหา ก็เพราะระบุหัวข้อ "ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับช้อนกัน"

ดังนั้น MOU68 ควรจะอารัมภบท "ว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมด้านปิโตรเลียม" โดยระบุในเนื้อหาว่า ไม่เกี่ยวกับทะเลอาณาเขต ไม่เกี่ยวกับไหล่ทวีป ไม่เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และไม่เกี่ยวกับการปักปันเขตแดนบนบก แต่ใช้เฉพาะที่ในเรื่องการพัฒนาร่วมปิโตรเลียมเท่านั้น

เมื่อคณะทำงานเจรจาสำเร็จ การกำหนดอาณาเขตของพื้นที่พัฒนาร่วมปิโตรเลียม Joint Development Area JDA for Petroleum ไทย-กัมพูชา ก็จะเกิดขึ้น อันเลียนแบบล้อตามกฏหมายสากล

ประชาชนทั้งสองประเทศก็น่าจะยอมรับการเจรจาที่เบนเข็มไปเฉพาะด้านเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่วนการเจรจาเรื่องทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และการปักปันเขตแดนบนบก ก็ดำเนินการไปตามครรลองปกติ แยกต่างหากชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น