ได้ฤกษ์ กทม.จ่ายหนี้ค้างชำระ 3 รัฐวิสาหกิจ ปรับรูปแบบโครงการก่อสร้าง “นำสายสาธารณูปโภคลงดิน” รอบเกาะรัตนโกสินทร์ วงเงินเกือบ 250 ล้าน หลังปรับปรุงเสร็จมามากกว่า 10 ปี ตามคำแนะนำบอร์ดเกาะรัตนโกสินทร์-กรมศิลป์ ยุคก่อน ให้เจาะอุโมงค์แนวต่ำกว่าแหล่งโบราณคดี ก่อนลอดใต้ผิวดินลึกเกินกว่า 3 เมตร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดี
วันนี้ (12 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการนำสายสาธารณูปโภคลงดิน รอบเกาะรัตนโกสินทร์ในพื้นที่ราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินใน ถนนท้ายวัง ถนนเชตุพน และถนนมหาราช ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549
ที่ผ่านมา ผู้รับจ้างทั้ง การไฟฟ้านครหลวง บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) ได้ดําเนินการนําสายสาธารณูปโภคลงดินรอบเกาะรัตนโกสินทร์ในพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
และได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย และคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับสภาพงานไว้เรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาดําเนินการ 540 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มิถุนายน 2556 แต่ไม่ขอรับเบิกเงิน
หลังจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แจ้งให้ดําเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนําสายสาธารณูปโภคลงดิน
ล่าสุด พบว่า คณะรัฐมนตรี (3 ธ.ค. 2567) เห็นชอบตามกระทรวงมหาดไทย อนุมัติให้ กทม. ก่อหนี้ผูกพันและขยายกรอบวงเงินงบประมาณโครงการดังกล่าว เกินกว่าหรือนอกเหนือจากที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย
และขยายกรอบวงเงิน งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2567 จากวงเงินเดิม 225,600,000 บาท เป็นวงเงิน 247,976,515.74 บาท
“กทม. เจ้าของโครงการ มีความจําเป็นต้องปรับรูปแบบการก่อสร้าง ซึ่งมีผลทําให้ปริมาณงานและวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับงบประมาณ”
เนื่องจาก คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดําเนินงานในกรุงรัตนโกสินทร์และกรมศิลปากร ขณะนั้น ได้เสนอให้ทําท่อ หรือ อุโมงค์ในแนวต่ำกว่าแหล่งโบราณคดี แล้วลอดใต้ผิวดินลึกเกินกว่า 3 เมตร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดี
และ กทม.ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างทั้ง 3 หน่วยงาน ดําเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนําสายสาธารณูปโภคลงดิน จากการขุดเปิดผิวดิน เป็นการดันท่อลอดใต้ผิวดินความลึกเกินกว่า 3 เมตร ตามเงื่อนไขของคณะอนุกรรมการ และกรมศิลปากรกําหนด
โดยให้ผู้รับจ้าง ทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งเป็นผู้ออกแบบงานก่อสร้าง ดําเนินการประสานชี้แจงรายละเอียด แล้วจัดส่งแบบแปลน แผนการดําเนินงานให้คณะอนุกรรมการฯ และกรมศิลปากรโดยตรง
พร้อมเร่งรัดให้ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่เพื่อเข้าปฏิบัติงานตามสัญญาจ้าง ซึ่งผู้รับจ้างได้ส่งแบบงานก่อสร้างให้กับกรมศิลปากรพิจารณา และกรมศิลปากร ได้เห็นชอบและอนุญาตให้ ทั้ง 3 หน่วยงานดําเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนําสายสาธารณูปโภคลงดิน
โดยการดําเนินการก่อสร้างต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ มิให้มีผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีรอบเกาะรัตนโกสินทร์
ได้มีการปรับ และเพิ่มลดปริมาณงาน ทําให้วงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น/ลดลง และระยะเวลาการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิม ซึ่ง กทม.ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาทั้ง 3 สัญญาแล้ว
ที่ผ่านมา กทม. ว่าจ้างการไฟฟ้านครหลวง เป็นเงิน 187,666,000 บาท โดยได้แก้สัญญา งบประมาณคงขาด 92,484,624.57 บาท จ้างบริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) เป็นเงิน 25,136,735.22 บาท โดยได้แก้สัญญา งบประมาณคงขาด 16,804,773.49 บาท
จ้างบริษัท กสท โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) เป็นเงิน 12,796,470.26 บาท โดยได้แก้สัญญา งบประมาณคงขาด 25,887,514.94 บาท.