“หม่อมกร” ชำแหละเล่ห์เหลี่ยมนักการเมืองเสนอสูตรภารษี 15-15-15 อุ้มคนรวย อ้าง OECD แบบมั่วๆ ลดภาษีนิติบุคล เหลือ 15% ปรับภาษีบุคคลธรรมดาเป็น 15% อัตราเดียว คนรายได้น้อยจ่ายภาษีมากขึ้น คนรายได้สูงจ่ายภาษีน้อยลง พอเก็บภาษีคนรวยได้น้อยลง กลัวถังแตก ก็ไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15%
วันนี้ (11 ธ.ค.) ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คุยกับหม่อมกร” ชำแหละสูตรภาษี 15-15-15 ของรัฐบาล ว่า เป็นการเอื้อนายทุน ค้ำจุนคนรวย และที่ซวยคือคนจน? (แม้ว่ารัฐบาลจะถอยแล้ว แต่ประชาชนควรรู้ทันเหลี่ยมการเมือง)
15 แรก คือ ลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เหลือ 15% รมว.คลัง อ้างว่า OECD กำหนดให้ลดภาษีนิติบุคคลมาที่ 15% ทั้งที่ความจริง OECD ขอให้ประเทศสมาชิกไม่ลดภาษีต่ำกว่า 15% กำหนด (Global minimum tax rate 15%) โดยมีจุดประสงค์เพื่อหยุดการแข่งขันทางด้านภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน และป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่จะย้ายกำไรไปยังบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภาษีต่ำ
แต่ถ้าประเทศมีอัตราภาษีสูงกว่า 15% ไม่ได้บังคับว่าต้องลด
การตั้งใจแปลความหมายของ OECD แบบผิดๆ หากมองแบบคนมีเหลี่ยม เบื้องหลังนโยบายนี้ คือ ต้องการให้ทุนใหญ่เสียภาษีน้อยลง ร่ำรวยมากขึ้น หุ้นวิ่งขึ้น ใช่หรือไม่?
15 ที่สอง คือ ให้ทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนเสียภาษีบุคคลธรรมดา 15% เท่ากัน ทำให้คนรายได้สูงที่เคยเสียอัตราสูงสุดที่ 35% เหลือ 15% คนมีรายได้น้อยที่เคยเสียอัตรา 10% หรือต่ำกว่า ต้องเสียที่ 15% ดังนั้น หากนำระบบใหม่มาใช้ คนรายได้มากเสียภาษีน้อยลง คนรายได้น้อยจะเสียภาษีมากขึ้น
เพราะระบบภาษีเดิมที่ใช้อยู่เป็นขั้นบันได และทุกคนมีสิทธิหักค่าลดหย่อนได้ ผู้มีรายได้น้อยหลังหักค่าลดหย่อนจึงเสียอัตราต่ำกว่า 15% ผู้รายได้มากเสียอัตราสูงกว่า 15% จึงเป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น หากให้เสียอัตรา 15% เท่ากัน เป็นการทำให้ชนชั้นกลางรับภาระภาษีมากขึ้น คนรวยรับภาระน้อยลง เพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากยิ่งขึ้น
15 ที่สาม ผมวิเคราะห์ว่า เมื่อเก็บภาษีคนรวยและบริษัทรวยน้อยลงแล้ว รัฐบาลกลัวว่าจะถังแตก จึงต้องขึ้น VAT จาก 7% เป็น 15% สินค้าและบริการ เช่น ค่าโทร.มือ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำ ค่าไฟ และสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย จะขึ้นราคาทันที 8% คนจนคนชั้นกลางเดือดร้อน และเศรษฐกิจชะลอแน่นอน โดยมีข้ออ้างว่า จะเอาเงินที่เก็บได้เพิ่มไปช่วยคนจน!!!
นโยบายภาษีที่รัฐบาลโยนหินถามทางมานี้ ทำให้เกิดความสงสัยในความจริงใจของรัฐบาลว่า
เหตุใด ภาษีทางตรง คือ ภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดา ที่ใช้ลดความเหลื่อมล้ำกลับอยากจัดเก็บลดลง ส่วนภาษีทางอ้อม คือ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่กระทบคนจนโดยตรง กลับต้องการจัดเก็บสูงขึ้น
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลอยากจะเอื้อนายทุน ค้ำจุนคนรวย มากกว่าที่จะช่วยคนจนอย่างนั้นหรือ?
ผมเห็นว่า การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีเป็นสิ่งจำเป็น พอๆ กับการปฏิรูปการแจกเงินของรัฐบาลเพื่อคะแนนนิยม เพราะของฟรีไม่มีในโลก เราจึงควรรู้ทันเหลี่ยมการเมือง ว่า การแจกเงินของรัฐบาลแบบไม่มีเหตุผล มันเป็นการสร้างภาระให้ประชาชนในระยะยาว สุดท้ายก็ต้องจบด้วยการขึ้นภาษีนั่นเอง