หยุดผลิตซ้ำอคติ! “ครูธัญ” ชี้ ผลกระทบ LGBTQ+ พาดหัวข่าวหวือหวา สร้างความเกลียดกลัว แนะสื่อต้องปรับบทบาทความเท่าเทียมในสังคม
วันนี้ (10 ธ.ค. 2567) นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนต่อการผลิตซ้ำอคติและความเกลียดกลัว (Homophobia) ต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยระบุว่าแนวทางการพาดหัวข่าวที่เน้นความหวือหวาและเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ซึ่งมักถูกใช้เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ชมและเพิ่มยอดการเข้าชม แนวทางนี้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมและชุมชน LGBTQ+ ในหลายมิติ
เพราะการรายงานข่าวที่เน้นภาพลักษณ์ทางเพศหรือพฤติกรรมในเชิงลบของบุคคลบางกลุ่ม มักทำให้เกิดการเหมารวมในลักษณะที่สร้างตราบาป แก่กลุ่ม LGBTQ+
แม้การนำเสนอภาพกิจกรรมทางเพศจะมีการปิดบังใบหน้าผู้เกี่ยวข้อง แต่การเผยแพร่ภาพและข้อมูลในลักษณะนี้ยังคงลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่งเสริมการเหมารวมในเชิงลบ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องไปตามกระบวนการว่าบุคคลใดเป็นผู้ครอบครอง บุคคลใดเป็นผู้เสพที่อยู่ในกระบวนการรักษาแบบสมัครใจ
นายธัญวัจน์อธิบายถึงผลกระทบจากการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ออกเป็น 3 ประการ
1.การผลิตซ้ำอคติและเหมารวมจากข่าวที่เน้นพฤติกรรมของบุคคลในเชิงลบ ทำให้สังคมเชื่อมโยงพฤติกรรมเหล่านี้กับกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดและความเกลียดกลัวต่อชุมชนนี้อย่างไม่เป็นธรรม
2.การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการใช้ภาพและเนื้อหาที่ล่อแหลมหรือเน้นเรื่องเพศ ทำให้ผู้ที่อยู่ในข่าวถูกลดค่าความเป็นมนุษย์และถูกมองในเชิงลบ
3.การนำเสนอในลักษณะนี้ขัดขวางความพยายามในการสร้างความเข้าใจและการยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศในสังคม
“เพศวิถี และพฤติกรรมทางเพศ เป็นประเด็นที่ต้องการความเข้าใจที่ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการเหมารวม เพศวิถีคือความดึงดูดทางอารมณ์หรือทางเพศต่อบุคคลอื่น เช่น เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล หรือรักต่างเพศ ส่วนพฤติกรรมทางเพศคือการกระทำหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับวิถีทางเพศหรือเพศวิถีของบุคคลนั้น สิ่งสำคัญคือการไม่เหมารวมพฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่งให้กลายเป็นตัวแทนของทั้งชุมชน LGBTQ+”นายธัญวัจน์กล่าว
นายธัญวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อมวลชนควรตระหนักถึงบทบาทของตนในการสร้างความเข้าใจในสังคม หลีกเลี่ยงการพาดหัวข่าวที่เหมารวมและเน้นความหวือหวาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดการผลิตซ้ำอคติและตราบาป สื่อควรเคารพศักดิ์ศรีและความเป็นส่วนตัวของบุคคลในข่าว โดยไม่นำเสนอภาพหรือเนื้อหาที่ทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าของการล้อเลียนหรือการโจมตี การนำเสนอข่าวควรเน้นการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในเชิงบวกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพื่อส่งเสริมการยอมรับในสังคม และสื่อควรสนับสนุนพื้นที่แสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้และเข้าใจประเด็นทางเพศมากขึ้น
“การนำเสนอข่าวในลักษณะที่เน้นความหวือหวาอาจเพิ่มยอดผู้ชมได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวกลับสร้างความเสียหายให้กับกลุ่ม LGBTQ+ และสังคมไทยโดยรวม หากสื่อมวลชนต้องการมีบทบาทในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและลดความเกลียดกลัว การรายงานข่าวที่สร้างสรรค์และไม่ตอกย้ำอคติคือแนวทางที่ควรเดินหน้าต่อไป”นายธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย