ข่าวปนคน คนปนข่าว
++ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นเลขาฯ ยูเอ็น และยอมเซ็น MOU44
“เอ็มโอยู2544 คือเอ็มโอยูขายชาติ” คำตอกย้ำจากปาก “สนธิ ลิ้มทองกุล” หลังจากยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิก MOU2544 และ JC2544 ระหว่างไทยและกัมพูชา ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานที่ผ่านมา
ที่ต้องบอกว่าขายชาติ ก็เพราะเมื่อไล่เรียงที่มาที่ไปแบบสรุปรวบยอด ก็จับความได้ว่า มาจาก “ทักษิณ ชินวัตร” รวมหัวกับ “ฮุนเซน” คิดการจะแบ่งผลประโยชน์เรื่องแก๊สและน้ำมันในอ่าวไทย บริเวณที่อ้างว่ามีการอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อน ระหว่างไทยและเขมรนั่นเอง
ซึ่งอันที่จริง เรื่องพื้นที่ทับซ้อนแต่ไหนแต่ไรมา รัฐบาลไทยไม่เคยยอมรับ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า เขมรขีดเส้นเขตแดนทางทะเลของตัวเองแบบตามอำเภอใจ ส่วนไทยเราก็มีเส้นอาณาเขตที่ลากขึ้นมาตามกฎหมายทะเลสากลตามพระบรมราชโองการมาตั้งแต่ปี 2516 แล้วให้กองทัพเรือลาดตระเวนตามเส้นเขตแดนที่ประกาศมาตั้งแต่บัดนั้น ไม่ได้สนใจเส้นเขตแดนที่เขมรลากขึ้นมามั่วๆ
จนกระทั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” ขึ้นนายกฯ ไม่กี่เดือน ก็มี MOU2544 หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน”
ลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โดย “ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” รมว.การต่างประเทศ ขณะนั้น เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจลงนามฝ่ายไทย ส่วนฝ่ายกัมพูชาก็มี “นายซกอัน” รัฐมนตรีอาวุโส และประธาน “การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา” เป็นผู้ลงนาม
เท่านั้นแหละ เส้นที่เขมรลากมั่วๆ ถึงได้มาปรากฏอยู่ในเอกสารเป็นทางการที่ฝ่ายไทยรับรู้
ถึงคนรอบกาย “ทักษิณ” จะออกมาแก้ต่างแทนนายยังไง แต่ความจริงที่มีหนึ่งเดียวมันปรากฏอยู่ใน MOU2544 ฉบับเต็มอยู่แล้ว
พิรุธโต้งๆ ใน MOU2544 ที่โดนจับได้ ก็คือ จุดประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อจะรีบขุดเอาทรัพยากรใต้ทะเลมาแบ่งกัน โดยไม่สนใจว่าประเทศจะเสี่ยงเรื่องการสูญเสียดินแดนหรือเปล่า
ใครได้อ่าน MOU2544 ฉบับเต็ม ก็จะเห็นว่า เรื่องการแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียมในทะเล ถูกระบุเอาไว้ในช่วงเกริ่นนำของ MOU เลยทีเดียว
แถมคนลงนามของฝ่ายกัมพูชา ก็มีตำแหน่งเป็นประธาน “การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา”
ฟังจาก “ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์” อดีตนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา ที่ไปร่วมยื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ กับ “สนธิ ลิ้มทองกุล” เมื่อวาน ก็เห็นว่า มีการคุยเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ใต้ทะเลกันไปหลายรอบแล้ว ในสมัยทักษิณยังเป็นนายกฯ และตกลงกันได้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ว่าจะแบ่ง 50:50 แต่บังเอิญว่าในเดือนถัดมา วันที่ 19 กันยายน ทักษิณ โดนยึดอำนาจไปเสียก่อน
แล้ว MOU2544 ก็มาฟื้นชีพอีกครั้ง ในยุคที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้กลับมาครองอำนาจ โดยมีลูกสาวเป็นนอมินี พูดอย่างไม่กระดากปากบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ว่า ต้องรีบขุดเอานำมันในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาขึ้นมาใช้ เพราะเดี๋ยวโลกก็เปลี่ยนไป ใช้พลังงานทดแทน มันก็จะถูกทิ้งไว้ใต้ทะเลโดยเปล่าประโยชน์
ข้อเท็จจริงอีกด้าน “ทักษิณ ชินวัตร” นั้น มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจน้ำมันรายใหญ่ อย่างบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม แห่งอาบูดาบี เจ้าของเดียวกับทีมฟุตบอล “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” ที่ซื้อต่อไปจาก ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง
แล้ว “มูบาดาลา ปิโตรเลียม” ก็มีบริษัทลูกคือ “เพิร์ล ออย” จดทะเบียนในปี 2548 มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ อาคารชินวัตร 3 ถนนวิภาวดีรังสิต รังใหญ่ของธุรกิจเครือตระกูลชินฯ นั่นเอง
พิรุธโต้งๆ แบบนี้ แล้วคนอย่าง “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” ที่มีการศึกษาดี จบดอกเตอร์ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เกิดในตระกูลดี เป็นลูกชายอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ยอมเป็นเครื่องมือให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้ยังไง
เมื่อวาน “สนธิ ลิ้มทองกุล” พูดชัดเจนว่า ก็เพราะ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” มีความใฝ่ฝันว่า ในชีวิตนี้จะเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติให้ได้ จึงต้องการได้แรงสนับสนุนจาก“ทักษิณ ชินวัตร” จึงยอมทำงานนี้ให้
และความฝันของ “ดร.สุรเกียรติ์” ก็เกือบจะเป็นจริง เมื่อถูกเสนอชื่อเพื่อเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ในนามของ 10 ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน แต่ได้ถอนตัวไปในเดือนตุลาคม 2549
หรือ 1 เดือนหลังจาก “ทักษิณ ชินวัตร” หมดอำนาจ เพราะถูกรัฐประหาร
++ “อนุทิน” ขัดใจ เพื่อไทย เลือกยืนข้างทหาร ค้านร่างกฎหมายสกัดการปฏิวัติ
เป็นอีกครั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย” มีความเห็นไม่ตรงกับ “พรรคเพื่อไทย” และได้แสดงออกอย่างชัดเจน ไม่มีกระมิดกระเมี้ยน
นั่นคือ เรื่องที่พรรคเพื่อไทย เปิดฉาก “รุกฆาต” กองทัพ ด้วยการเสนอ ร่าง แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายต้านการปฏิวัติ”
เพราะที่ผ่านมา ทั้ง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” สองพี่น้องตระกูลชินวัตร ต้องตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะถูกรัฐประหาร
ร่างกฎหมายดังกล่าว เสนอโดย “หัวเขียง” ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและคณะ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77
หลักการ คือ กองทัพ-ทหาร ต้องยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะทหารก็คือข้าราชการ เหมือนกับข้าราชการอื่นๆ ที่จะต้องเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลนำไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน
เนื้อหา คือ ทหาร ต้องอยู่ใต้รัฐบาล ให้ครม.มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้ายนายพล ที่ผ่านการพิจารณามาจากบอร์ดแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลแล้ว และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีและครม. มีอำนาจสั่งให้ทหารที่รัฐบาลเห็นว่า หรือ มีข้อมูลว่า กำลังเคลื่อนไหวจะทำการยึดอำนาจรัฐบาล หรือคิดทำรัฐประหาร ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้
เรียกได้ว่า เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายการเมือง แทรกแซง กำกับ ควบคุมกองทัพแบบเบ็ดเสร็จ เหมือนที่ฝ่ายการเมือง “คุมตำรวจ” อยู่ในขณะนี้
ใครจะเฟื่องฟู เป็นใหญ่เป็นโต ต้องให้ฝ่ายการเมืองเห็นชอบ !!
เรื่องนี้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาให้ความเห็นแบบไม่มีกั๊ก ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะทหารจะปฏิวัติ หรือไม่ปฏิวัติ ขึ้นอยู่กับนักการเมืองด้วย
“เงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมืองทั้งนั้น เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็จะปฏิวัติไม่ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือ การฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตรงนี้ที่จะทำ ก็อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ บังคับใช้อะไรไม่ได้ ดีที่สุดก็ต้องทำตัวให้ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง...”
จุดยืนของพรรคภูมิใจไทย คือ ถ้าร่างกฎหมายนี้เข้าสภา พรรคภูมิใจไทย ก็จะโหวตสวน
ขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า นี่เป็นเกมต่อรองทางการเมือง ระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับพรรคเพื่อไทย อีกครั้งหนึ่งหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พรรคเพื่อไทย จะเสนอร่างกฎหมายนี้ ก็น่าจะดูทางหนีที่ไล่ไว้แล้วว่า ถ้าพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย ก็อาจจะไปเจรจากับพรรคประชาชน ให้มาร่วมกันผลักดัน
เพราะเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า พรรคประชาชน มีแนวทางที่พยายาม “รื้อโครงสร้าง” ของประเทศอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะโครงสร้างทางทหาร
ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร หากพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาชน ร่างกฎหมายนี้ก็น่าจะผ่านสภาผู้แทนไปได้
จากนั้นก็ไปลุ้นเอาในชั้น วุฒิสภา ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่า เป็น “สภาสีน้ำเงิน” ที่ผูกโยงอยู่กับพรรคภูมิใจไทย และกำลังคัดง้างกับพรรคเพื่อไทย ในเรื่องกฎหมายประชามติ อยู่ในตอนนี้
ยังมีอีกองค์ประกอบที่น่าสนใจคือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีกำหนดเปิดรับฟังความเห็น ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.67 ถึง วันที่ 1 ม.ค.68 ปรากฏว่า ใน 4 วันแรก คือวันที่ 2-6 ธ.ค. มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาแสดงความเห็น 11,521 คน เห็นด้วย 90% และไม่เห็นด้วย 10%
ล่าสุด วันที่ 9 ธ.ค. เวลา 15.30น. พบว่ามีผู้ให้ความสนใจต่อร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จำนวน 24,647 คน ที่สำคัญคือ จากเดิมที่มีผู้เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.นี้ 90% กลับลดลงเหลือแค่ 45.80% ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยเดิมมีแค่ 10% กลับเพิ่มขึ้นเป็น 54.20%
ต้องติดตามกันว่า เมื่อครบกำหนดการรับฟังคิดเห็น ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
หรือ ร่างกฎหมายต้านปฏิวัติ จะแท้งก่อนเข้าสภาฯ