เมืองไทย 360 องศา
ในที่สุดผลสำรวจเบื้องต้นก็ออกมาแล้วว่า แนวโน้มสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีความเป็นไปได้ยากขึ้น หรือ ถึงขั้น “แท้ง” ก็เป็นไปได้สูงทีเดียว ขณะเดียวกัน กลับมีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นการแก้ไขรายมาตรา รวมทั้งเห็นสัญญาณจากการที่ชาวบ้านสนับสนุนท่วมท้น กับการลงประชามติแบบ “สองชั้น” เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ทำการสำรวจ ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการประชามติ
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเกณฑ์การผ่านประชามติโดยต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง (เกินกว่า 50%) ของผู้มีสิทธิ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 51.37 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 21.83 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 15.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 10.46 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์การผ่านประชามติ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.54 ระบุว่า เสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ (ต้องได้มากกว่า 50%) รองลงมา ร้อยละ 26.57 ระบุว่า เสียงเห็นชอบต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ (แต่ไม่จำเป็นต้องถึง 50%) ร้อยละ 12.52 ระบุว่า เสียงเห็นชอบต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ (ไม่จำเป็นต้องถึง 50%) แต่ต้องมากกว่าผู้ลงคะแนนช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน และร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความต้องการของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 27.63 ระบุว่า ต้องการมาก รองลงมา ร้อยละ 27.02 ระบุว่า ไม่ต้องการเลย ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างต้องการ ร้อยละ 19.08 ระบุว่า ไม่ค่อยต้องการ และร้อยละ 0.93 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อสอบความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่าต้องการมากและค่อนข้างต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (จำนวน 694 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 78.97 ระบุว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รองลงมา ร้อยละ 19.16 ระบุว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และร้อยละ 1.87 ระบุว่า ไม่ตอบ
ผลสำรวจดังกล่าวถือว่าน่าสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการลงประชามติแบบเสียงข้างมาก “สองชั้น” คือ ต้องเกินร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และต้องได้เสียงเกินร้อยละ 50 ของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง และเมื่อถามความเห็นต่อไป ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่าเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้มีการแก้ไข แต่เมื่อถามว่า ต้องการแก้แบบไหน ผลปรากฏว่าต้องการแก้ไขแบบ “รายมาตรา” ถึงร้อยละ 78.97 ขณะที่ต้องการให้แก้ไขทั้งฉบับ มีแค่ร้อยละ 19.16 เท่านั้นเอง
ก่อนหน้านั้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึง กรณีนายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยืนยันว่า การจะแปลงร่างกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงินไม่สามารถทำได้ เพราะเลยระยะเวลามาแล้ว ว่าอ่านรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ก็ยอมรับว่าขั้นตอนนี้เลยมาแล้วจริงๆ ตนก็ไม่ได้เถียงว่าเลยมาแล้ว แต่ที่ตนยกประเด็นขึ้นมา หมายความว่า เมื่อมีปัญหากมธ.ร่วมเห็นไม่ตรงกัน ถือเป็นอุปสรรคของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่แล้วเสร็จ ตนจึงคิดว่าทางออกควรเป็นอย่างไร ซึ่งการตีความว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งตนก็ไม่ได้ฟันธง จึงได้บอกว่า ต้องมีการหารือกัน ซึ่งสื่อมวลชนคงจำได้ว่าตนเคยบอกว่าให้หารือกับประธาน คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และกมธ. ว่าจะมีทางออกได้หรือไม่ และไม่ได้ฟันธงว่าเป็นไปตามนั้น ซึ่งหากไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ถามว่า เชื่อมั่นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเสร็จทันรัฐบาลนี้ หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าถ้าทำประชามติ 3 ครั้งก็ไม่ทัน แต่ถึงอย่างไรก็จะดันเต็มที่ให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อย่างน้อยก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดนี้ก็จะได้มี สสร. ซึ่งตนได้เคยบอกกับสื่อไปแล้ว ส่วนการเลือกตั้งก็ใช้กติการัฐธรรมนูญฉบับเก่าไปก่อน
แน่นอนว่าสำหรับพรรครัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ยังมีความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ขึ้นจัดทำร่างทั้งฉบับ แต่ยอมรับว่าไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ หรือสภาชุดนี้แน่นอน เพราะมีการติดขัดเรื่องกฎหมายลงประชามติที่ สว.ลงมติสวนทางกับทางสภาผู้แทนราษฎร และนำไปสู่การพักกฎหมายเอาไว้ 180 วัน แม้ว่าในที่สุดเชื่อว่าทางสภาผู้แทนราษฎรคงยืนยันมติ “เสียงข้างมากธรรมดา” ก็ตามแต่ทำให้การแก้ไขล่าช้าไม่ทันสภาชุดนี้
นอกเหนือจากนี้ เมื่อผลสำรวจล่าสุดออกมาเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า การแก้ไขทั้งฉบับเป็นไปได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
สอดคล้องกับความเห็นก่อนหน้านี้ที่เวลานี้บรรยากาศการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อมีการสำรวจความเห็นของชาวบ้าน ล้วนไม่สนใจกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าใด พวกเขาต้องการให้มีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะที่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องผลประโยชน์ เป็นความต้องการของพวกนักการเมืองมากกว่า อีกทั้งการแก้ไข ต้องใช้งบประมาณตั้งแต่การลงประชามติที่ต้องใช้จำนวนเป็นหมื่นล้านบาท อาจมองว่าไม่คุ้มค่า ไม่มีความจำเป็น
ดังนั้น ทำให้เห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับน่าจะเป็นไปได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะชาวบ้านเริ่มเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือจำเป็น และยังเห็นว่าเป็นแค่ผลประโยชน์ของนักการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้จากความพยายามในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ที่เจอเสียงคัดค้านเนื่องจากเห็นว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบางคน เช่น มองว่าเจตนาล้างความผิดให้ กับ นายทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น จนฝ่ายรัฐบาลต้องถอยกรูด
แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังไม่อาจระบุว่าใครได้ประโยชน์ชัดเจน แต่รับรองว่าคนที่ได้แน่นอนคือ นักการเมืองและนักเลือกตั้งนั่นแหละ !!