xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายต้านภัยน้ำเมาบุกยื่นหนังสือ “สมศักดิ์”เอาผิดผู้ค้าจัดกิจกรรมมรณะแข่งซดเหล้าเบียร์ แลกรางวัล ย้ำ ผิด กม.ชัดเจน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(6 ธ.ค.)ที่กระทรวงสาธารณสุขเครือข่ายต้านภัยน้ำเมา ประกอบด้วย เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสังคม กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้มีมาตรการคุมเข้มการเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมแข่งกิน/ดื่มเบียร์หรือเหล้า ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเพื่อให้มีการเอาผิดผู้จัดกิจกรรมหรืออีเว้นท์แข่งเมา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิต พร้อมกันนี้ยังได้แสดงละครจำลองสถานการณ์แข่งเมาสะท้อนปัญหา โดยมีนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับหนังสือแทน 

        นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จากข้อมูลปัจจุบันเราพบว่าการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการจัดกิจกรรมจูงใจผู้บริโภคให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการจัดกิจกรรมแข่งขันดื่มเหล้า และเบียร์ เพื่อชิงรางวัล หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีผู้สนใจจำนวนมาก มีความอันตรายเนื่องจากการดื่มเร็ว และดื่มหมดรวดเดียวในปริมาณมากๆ เสี่ยงเกิดอาการช็อคหมดสติจากภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) และปริมาณน้ำในร่างกายที่เพิ่มขึ้นมามากก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ (water intoxication) ส่งผลให้เกิดสมองบวมและระดับเกลือแร่ในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ยกตัวอย่างการดื่มเหล้าทีเดียว 1 ขวด จะทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในเวลาอันรวดเร็วเสี่ยงสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจหมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการได้รับแอลกอฮอล์เกินขนาด ซึ่งโดยทั่วไป นักดื่มมักจะค่อยๆ ดื่ม จะเป็นการเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ค่อยๆ ทำลาย และขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่ดื่มมากนัก” นายธีรภัทร์ กล่าว

       นายธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า กิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 (3) ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย และ (4) ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดงการให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนฯ (5) โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่นแล้วแต่กรณีฯ รวมถึงถ้ามีการประชาสัมพันธ์ ในช่องทางออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ อาจมีความผิดฐานโฆษณา ตามมาตรา 32 อีกด้วย ยิ่งเป็นการเชิญชวนให้ดื่มแล้วทำให้ลูกค้าได้รับอันตรายต่างๆสามารถเอาผิดร้านค้า ซึ่งผู้ขายเข้าข่ายก่อภัยและอยู่ใกล้แก่เหตุจะเกิดความเสียหาย ซึ่งสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้ปัญหาลุกลามไว้ได้แต่ต้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม ให้ผู้ขายมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นการรักษาสวัสดิภาพและความปลอดภัยในสังคม

     ด้าน นางสาวศุภัทรา ภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวปัญหาดังกล่าว เครือข่ายฯขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 มาตรา 30 (3) (4) และ (5) มาตรา 32 กับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนโดยการเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันดื่มเหล้าเบียร์ และโฆษณาเพื่อดึงดูดให้ดื่ม
2.ขอให้กระทรวงเร่งดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าผู้ใดคือ “คนเมาครองสติไม่ได้” เพื่อเป็นมาตรการให้กับสถานประกอบการหรือผู้ที่จำหน่ายเหล้าเบียร์ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบจากคนเมาแล้วขับและปัญหาสังคม 3.ขอให้เร่งประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ให้รับรู้ข้อกฎหมาย และอันตรายจากกิจกรรมดังกล่าว  และขอให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส ต่อหน่วยบริการสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนหากมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรม  รวมถึงการจัดกิจกรรมโปรโมชั่นการแข่งขันดื่มเหล้าเบียร์  4.ขอให้กระทรวงขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ ศิลปิน ดารา ในการงดการแสดง ที่โชว์การดื่มเหล้าเบียร์บนเวทีคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่สาธารณะ  รวมถึงควรขอให้งดการนำภาพ คลิป มาสื่อสารในสังคมออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น