xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาสังคม เผย จากวันยุติความรุนแรง ถึงวันพ่อ พบเหตุรุนแรงฆ่ากันตายยังไม่แผ่ว ชี้น้ำเมายังเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ควรปล่อยเสรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า การรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่จากข้อมูลนับตั้งแต่ “วันยุติความรุนแรงในครอบครัว 25 พฤศจิกายน 2567 มาจนถึงวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567 ยังมีรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัว หรือคู่รัก รวมไปถึงข่าวดื่มแล้วขับเกิดขึ้นแทบทุกวัน โดยเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในวันยุติความรุนแรงฯ คือที่จังหวัดสมุทรปราการ มีอดีตสามีดื่มเหล้าแล้วก่อเหตุยิงรัวฆ่ายกครัว 2 ราย แล้วยิงตัวเองตายตาม รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 ราย มีเด็กอายุ 8 ขวบได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนเหตุการณ์ ล่าสุดคือเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา เกิดเหตุพ่ออายุ 31 ปี ทะเลาะกับภรรยา ทำร้ายทุบตีภรรยาตั้งครรภ์ และทำร้ายลูกตัวเองแท้ๆอายุ 6 เดือนเสียชีวิต หลังจากดื่มเหล้าและมีปากเสียงกัน เหตุเกิดในพื้นที่คันนายาว กรุงเทพมหานคร

นายชูวิทย์ กล่าวว่า ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วม จึงควรควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น เพราะไม่ใช่แค่ต้นเหตุของอุบัติเหตุทางถนนแล้ว ยังก่อความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อาชญากรรมส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ยังไม่นับรวมผลกระทบทางตรงต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ก้าวหน้า เท่าทันต่อสถานการณ์ โดยขอย้ำว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายละเลยมิติทางสังคมไม่ได้ และในมุมมองของคนเป็นพ่อ เห็นว่า การสร้างความเท่าเทียมในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก คนเป็นพ่อไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้ตามก็ได้ ทำถูกได้ ผิดได้ ขอโทษได้ เรียนรู้ที่จะเคารพให้เกียรติกันทั้งภรรยาและลูก สำคัญที่สุดคือต้องมุ่งมั่นทำให้เกิดวัฒนธรรมปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะนอกจากไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ยังซ้ำเติมปัญหา ทิ้งร่องรอยบาดแผลให้ลูกและภรรยาอย่างฝังรากลึก และอาจเลยเถิดไปถึงขั้นสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าผู้ชายจำนวนหนึ่งที่เป็นพ่อหรือสามีจะใช้อำนาจเหนือกว่า คิดว่าลูก และภรรยาเป็นสมบัติของตนเอง จะทำอะไรก็ได้ เมื่อมีความขัดแย้ง หรือมีปัญหาความเครียดต่างๆ มักจะมาใช้อำนาจกับลูกเมียเพราะมองว่าอำนาจน้อยกว่าตนเอง ซึ่งสถิติผู้ชายทำร้ายภรรยาและลูกไม่ลดลงเลย อย่างกรณีสะเทือนขวัญล่าสุด พ่อฆ่าลูกนี้ก็เกิดขึ้นก่อนวันพ่อเพียง 1 วัน สะท้อนถึงบทบาทพ่อที่ยังมีปัญหาในการใช้อำนาจเหนือคนในครอบครัว ซึ่งเป็นทัศนคติที่ต้องปรับเปลี่ยนต้องยอมรับความเท่าเทียมของสมาชิกในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นภรรยา หรือลูก ผู้ชายควรถูกตั้งคำถามว่าจะเปลี่ยนบทบาทพ่อให้ดีขึ้นกว่านี้ รวมถึงปลูกฝังความคิดทัศนคติในเรื่องของความเท่าเทียม การให้เกียรติทุกคน ให้เกียรติผู้หญิง เมื่อทำผิดต้องรู้จักขอโทษ ผู้ชายสามารถเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตาม และควรมีหลักสูตรความเท่าเทียนกันทางเพศในโรงเรียน ไม่ผลิตซ้ำทางความคิดแบบชายเป็นใหญ่ในสื่อต่างๆ เช่น ละคร โฆษณา และรณรงค์ปรับความคิดชายเป็นใหญ่ให้จริงจังและต่อเนื่องเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น