“หม่อมกร” โต้ ผู้อ้างตัวเป็นนักวิชาการทางทะเลปกป้อง MOU44 ย้ำ เมื่อเป็นสนธิสัญญา แต่ไม่ผ่านสภา ต้องเป็นโมฆะ ชี้ ถ้ายอมรับพื้นที่ทับซ้อนก็ถูกใจกัมพูชาที่ลากเส้นตามอำเภอใจ ยันควรทำตามแนวทางเจรจาที่เคยสำเร็จมาแล้วกับมาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย เจรจากันกันตามกฎหมายทะเลสากลก่อน แล้วค่อยทำ MOU รองรับ ไม่ใช่จะเจราจาแบบไหนก็ได้แล้วแต่ใจนักการเมืองปรารถนา
วันที่ 5 ธ.ค. ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คุยกับหม่อมกร” ว่า “ถึงเวลาของเบี้ย บนกระดาน MOU 2544???
“ที่ผมได้เขียนบทความแย้ง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ไปแล้วนั้น ได้มี ผู้อ้างว่าเป็น ดร. นักวิชาการทางทะเลอ้างตนว่าเป็นกลาง มาโต้แย้งผม ก็ต้องขอขอบคุณที่ทำให้เรื่อง MOU 2544 ไม่เงียบหายไป
ผมขอออกตัวก่อนว่าผมไม่เป็นกลาง เพราะผมเห็นว่า ไม่มีความเป็นกลางระหว่างความถูกต้อง กับ ความผิดเพี้ยน
ไม่มีความเป็นกลางระหว่างความถูกกฎหมายของประกาศพระบรมราชโองการรัชกาลที่ 9 เรื่องเขตไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทย กับ การลากเส้นเขตแดนทางทะเลละเมิดกฎหมายสากลของกัมพูชา
จึงขอออกความเห็นกลับไปดังนี้
1) ท่านมีความเห็นว่า MOU 2544 เป็นสนธิสัญญาตาม ตามอนุสัญญาเวียนนา ซึ่งสอดคล้องกับ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งข้อนี้ผมเห็นด้วย
ดังนั้น MOU 2544 จึงเป็นโมฆะ แต่ต้น เพราะละเมิดรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติคล้ายคลึงกันว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ” จึงไม่ใช่อำนาจของนักการเมืองหรือ คณะรัฐมนตรี ที่จะทำได้เองลำพัง ที่สำคัญคือ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และนำความขึ้นกราบบังคมทูลไปตามขั้นตอน เมื่อ MOU 2544 ละเมิดรัฐธรรมนูญทุกฉบับจึงเป็นโมฆะ ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ต่อไป
2) ท่านเห็นว่า เส้นเขตแดนทางทะเลเหนือสุดที่กัมพูชาประกาศ เป็นเส้นที่ละเมิดกฎหมายทะเลสากลอย่างแน่นอน เนื่องจากเกาะกูดเป็นเขตแดนอธิปไตยไทย และความเป็นเกาะ ย่อมต้องมีเขตทะเลอาณาเขต และไหล่ทวีปของตนเอง กัมพูชาจะกำหนดเขตไหล่ทวีปโดยไม่คำนึงถึงเขตทะเลอาณาเขตและไหล่ทวีปของเกาะกูด และยังลากเส้นผ่ากลางเช่นนี้ไม่ได้ ซึ่งข้อนี้ผมเห็นด้วยเช่นกัน
ท่านยังให้ความเห็นต่อมาว่า ไทยประท้วงโดยประกาศเขตไหล่ทวีปออกเป็นพระบรมราชโองการในปี 1973 โดยทางเหนือสุดใช้พิกัดเริ่มต้นเดียวกัน(หลักเขตที่ 73) จากพรมแดนไทย-กัมพูชา แต่ลากเส้นลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ โดยคำนึงถึงเกาะกูดที่ต้องมีทะเลอาณาเขต และไหล่ทวีปบางส่วนของตนเอง เมื่อมาถึงกลางอ่าวไทย แล้วหักลงทิศใต้ จึงทำให้เกิดเป็นเขตพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชา!!! ตรงนี้ผมเห็นว่า ไม่ถูกต้อง
เพราะไทยลากเส้นตามกฎหมายทะเลสากล กัมพูชาลากเส้นตามอำเภอใจไม่มีกฎหมายรองรับ หากเรียกว่า อ้างทับซ้อนก็คงถูกใจกัมพูชา และถูกใจผู้มีอำนาจ ตัวอย่างเช่น เรามีโฉนดที่ดิน มีคนมาปักเสาเอาดื้อๆ ตัดที่ดินไปครึ่งหนึ่ง ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า มีความพยายามที่จะบุกรุกเพื่อครอบครองปรปักษ์ แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศคงต้องเรียกว่า มีความพยายามที่จะรุกล้ำอธิปไตยของไทยครับ
ท่านยังอธิบายต่อว่า กรณีไทย-กัมพูชา นี้ UNCLOS 1982 บัญญัติให้รัฐคู่กรณีต้องเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงที่เป็นธรรมโดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อนี้ ผมถือว่า ความเห็นท่านออกทะเลอ่าวไทยไปกัมพูชาเรียบร้อย เพราะท่านคงมีข้อมูลไม่เพียงพอ หรือ ไม่ติดตามปัญหาก็ไม่ทราบได้ เพราะกัมพูชาไม่ได้ให้สัตยาบัน UNCLOS 1982 แปลง่ายๆ คือ ไม่ยอมรับกฎหมายสากลนั่นแหละครับ นี่คือเหตุผลว่า การประชุม JTC กี่ครั้งก็ล้มเหลวไม่คืบหน้า เพราะกัมพูชาเพิกเฉยต่อกฎหมาย และต้องการอยู่นอกกติกาสากล
3) กรณีที่ผมให้ความเห็นว่า การเจรจาเขตแดนทางทะเลไทย ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วกับ มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่มีขั้นตอนคือ
1. ครม.ตั้งคณะเจรจา
2. กรอบการเจรจาใช้กฎหมายทะเลสากล
3. ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) หรือ บันทึกความตกลง เพื่อบันทึกความสำเร็จของการเจรจา
4. ประกาศพระบามราชโองการ
ซึ่งการเจราไทย-กัมพูชา กลับทำย้อนเกล็ดมีพิรุธน่าสงสัย อาจทำให้ไทยเสียเปรียบเสียประโยชน์
ท่านแสดงความเห็นว่า วิธีการ และขั้นตอนการเจรจา ไม่ได้มีระบุไว้ ณ ที่ใดตายตัวว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรก่อนหลัง ขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง และ ความตั้งใจทางการเมืองของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสภาพแวดล้อมของการอ้างสิทธิ อื่นๆประกอบกัน
ผมขอโต้แย้งว่า เป็นความเห็นที่หนุนผู้มีอำนาจปี 2544 จนเกินพอดี เพราะมีข้อมูลหลักฐานในการเจรจาที่ประสบความสำเร็จกับนานาประเทศอยู่ตรงหน้า กลับเฉไฉไปว่า ไม่ได้มีระบุไว้ ณ ที่ใดตายตัวว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรก่อนหลัง ขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง!!! ผมขอสรุปความเห็นของท่านข้อนี้ เป็นภาษาง่ายๆ ว่า “แล้วแต่ใจนักการเมืองจะปราถนา” ใช่หรือไม่
เมื่อพูดอย่างนี้ ผมคงต้องขอจบการชี้แจงไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ
ขอขอบคุณ ท่านประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้แทนไทย ในการเจรจากับมาเลเซีย จนประสบผลสำเร็จ และเป็นอดีตสมาชิกฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก ท่านเป็นบุคคลท่านแรกที่ออกมาคัดค้าน MOU 2544 และพลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ จบโรงเรียนนายเรือ ประเทศเยอรมนี ที่นำเรื่อง MOU 2544 และการละเมิดกฎหมายทะเลสากลของกัมพูชาที่มีผลกระทบต่อไทย มาอภิปรายในรัฐสภา
สิ่งที่ท่านทั้งสองทำ นอกจากจะเป็นคุณูประการต่อประเทศและปวงชนชาวไทย ยังเป็นแสงเทียนนำทางให้ผมเดินตามเส้นทางที่ท่านวางไว้ ผมจึงขอเอ่ยนามเพื่อให้พี่น้องชาวไทยได้รู้จัก และขอแสดงความขอบคุณท่านทั้งสองเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้
ปล.ผมแนบปกหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยกรรมาธิการต่างประเทศ แสดงข้อมูลความไม่ถูกต้องของ MOU 2544 เขียนโดยท่านประจิตต์ โรจนพฤกษ์ เพื่อให้ประขาชนได้สืบค้นกันต่อไปครับ