xs
xsm
sm
md
lg

ถังแตก ของร้อน ขึ้นแวตเพิ่มรายได้ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิชัย ชุณหวชิร
เมืองไทย 360 องศา

เริ่มมีเสียงอื้ออึงขึ้นมารอบทิศทันที หลังจากที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยเตรียมปรับโครงสร้างภาษีชุดใหญ่ ทั้งในเรื่องภาษีนิติบุคคล แต่ที่น่าจับตาและเสียงวิจารณ์ขึ้นมาทันทีก็คือการเตรียมการสำหรับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ แวต จากเดิมร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 15

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายพิชัย เปิดเผยว่า คลังเตรียมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโครงสร้างภาษี เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีให้สนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยออกเป็นแพกเกจภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกจัดเก็บที่ระดับ 15% แต่ไทยจัดเก็บอยู่ที่ 20% ดังนั้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภาษีดังกล่าวปรับลดลงมา เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

ต้องพิจารณาควบคู่กันไปว่า หากลดภาษีนิติบุคคลลงจะต้องไปปรับเพิ่มภาษีในส่วนใด เพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปัจจุบันเก็บที่ 7% ถือว่ายังอยู่ในอัตราต่ำ ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บที่อัตรา 15-25% ส่วนจะเพิ่มเป็นเท่าไรนั้น จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

“ภาษี VAT หากเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จะช่วยให้คนมีฐานะดีจ่ายภาษีตามยอดการใช้จ่ายได้มากขึ้น ทำให้รัฐบาลมีเงินนำส่งเพิ่มขึ้นและส่งผ่านงบประมาณแผ่นดินลงไปช่วยคนที่มีรายได้น้อยได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน ทำให้มาตรการด้านสาธารณสุข อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย การศึกษา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดีตามมาด้วย ดังนั้น การจะเก็บภาษีอะไรให้สูงหรือต่ำต้องคิดให้ดี” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวย้ำอีกครั้ง ถึงแนวคิดการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลจากที่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 7% ว่า แนวคิดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษา และแนวโน้มโลกทำอย่างไรก็ขอเวลากลับไปศึกษา ส่วนจะใช้ระยะเวลาการศึกษานานขนาดไหนนั้น ก็ต้องดูทั้งหมดในภาพรวม

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุมีแนวทางในการปรับปรุงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 15% ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล 15%เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ว่า เดี๋ยวนายพิชัย จะให้สัมภาษณ์ในรายละเอียด

ถามว่า แต่ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าถ้ามีการขึ้นภาษีดังกล่าวจะเดือดร้อน น.ส.แพทองธาร กล่าวเพียงสั้นๆ เข้าใจ
แน่นอนว่า การปรับโครงสร้างเรื่องภาษี ถือว่าเป็น “ของร้อน” ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการเสียภาษี ย่อมต้องกระทบกับคนจำนวนมาก

ขณะเดียวกันที่น่าจับตาก็คือการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต ที่เวลานี้จัดเก็บอยู่ในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งหากพิจารณาจากคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้มีแนวโน้มว่ารัฐบาลกำลังจะเพิ่มการจัดเก็บแวต เพิ่มเป็นร้อยละ 10-15 ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลต่อการจับจ่ายของชาวบ้านที่อาจน้อยลง ส่งผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโดยรวมก็เป็นไปได้ ซึ่งก็มีเสียงเตือนออกมาเหมือนกัน

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้ความเห็นว่า เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการที่จะหารายได้ภาษีให้เพิ่มขึ้นโดยการขึ้น VAT ส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปชดเชยรายได้ภาษีที่ลดลงจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงต้องการหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาประเทศผ่านโครงการลงทุนภาครัฐที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งจัดสวัสดิการให้ประชาชนกลุ่มรายได้น้อย หรือเปราะบาง ซึ่งการมีรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นเพียงพอก็จะช่วยลดการกู้ ลดภาระหนี้สาธารณะ ซึ่งปีนี้คาดว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึง 65.74% ใกล้เพดาน 70% เข้าไปทุกที การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาของรัฐบาล แม้จะมีเป้าหมายที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องมีแผนปฏิรูปภาษีที่รอบคอบและสมดุล เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางการคลัง และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยกระตุ้นการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและการเพิ่มรายได้ของประชาชน

ในขณะที่การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยเพิ่มรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้จริง กระตุ้นการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีทั้งสองประเภทจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศมีภาระหนี้สาธารณะสูง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐและเสถียรภาพทางการคลังอย่างรอบคอบ ซึ่งตนมองว่า การลดภาษีดังกล่าว ควรทำควบคู่กับการขยายฐานภาษี เช่น การจัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐและรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

สำหรับการเพิ่มอัตราภาษี VAT แม้ว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐอย่างมาก แต่จะกระทบต่อค่าครองชีพ การเพิ่ม VAT จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น เช่น อาหารและพลังงาน ทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่ในการบริโภค การเพิ่ม VAT ลดกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตนมองว่า ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการฟื้นตัวยังเติบโตไม่เต็มที่ ประชาชนมีรายได้ต่ำ มีหนี้ครัวเรือนสูง ไม่ควรไปเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาจากแนวคิดในการปรับโครงสร้างภาษีของรัฐบาลในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นสองส่วนคือการปรับลดภาษีนิติบุคคลลงมา เป้าหมายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน แต่สำหรับการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต มากขึ้นไปจนถึง ร้อยละ 15 นั้น ถือว่ามีความละเอียด และมีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะเสียงต่อเสียงวิจารณ์และการต่อต้านจากสังคม และที่สำคัญอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนอาจไม่มีกำลังซื้อ

ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งการปรับโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ แวต ในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า รัฐบาลเริ่มมีปัญหาในเรื่องของรายได้ที่ไม่เข้าเป้า ไม่พอกับรายจ่าย ลักษณะเข้าใกล้ลักษณะ “ถังแตก” หรือเปล่า จะมีผลกระทบกับโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดีมันก็มีความเสี่ยงต่อการถูกวิจารณ์จากสังคม รวมไปถึงจากฝ่ายการเมืองที่เชื่อว่า จะต้องถาโถมเข้าใส่กันหนักหน่วงแน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น