วันนี้ (5 ธ.ค.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และประชาชนที่ได้รับผลจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยมี นายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงานพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมลงพื้นที่ มอบถุงยังชีพ จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 11 ตำบลลำปำ จุดที่ 2 ศาลาอเนกประสงค์บ้านคลองขุด หมู่ที่ 8 ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จุดที่ 3 มัสยิดหาดไข่เต่าตะวันออก จุดที่ 4 อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก รวมทั้งสิ้น 2,000 ชุด ส่วนนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ให้กำลังใจชาวยะลา ด้านนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปักหลักช่วยพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้กำชับในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าให้แต่ละกระทรวงที่มีความพร้อมรีบลงพื้นที่มาดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม กระทรวงแรงงานได้นำถุงยังชีพ 4,000 ชุด ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดและสถานประกอบการห้างร้านต่างๆ ซึ่งผมและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทุกกรมได้ลงมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กำลังใจกับพี่น้อง 7 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย โดยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มอบหมายนายอารี ไกรนรา ส่วนจังหวัดสงขลา พัทลุง และสตูล ผมได้ลงพื้นที่เอง ขณะที่จังหวัดปัตตานีและยะลา ได้มอบหมายให้นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ และมอบหมายให้นายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
"ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอที่ประชุม ครม.ซึ่งที่ประชุมก็ได้เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท ขณะเดียวกันยังได้อนุมัติงบฉุกเฉินเพิ่มเติมในแต่ละจังหวัดที่ประสบอุทกภัยจากเดิม 20 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท ที่สำคัญในส่วนของกระทรวงแรงงาน หลังน้ำลดแล้วกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะตั้งศูนย์ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ที่ถูกน้ำท่วม โดยจะระดมทีมช่างประมาณ 300 คน เข้ามาช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำงาน บ้านเรือน รถจักรยานยนต์ที่จมน้ำ เครื่องยนต์เล็กทางการเกษตร เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ ซึ่งใน 7 จังหวัดคาดว่าจะมีรถจักรยานยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วมไม่น้อยกว่า 1,000 คัน ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว และจะคิกออฟ"ศูนย์ ซ่อม สร้างสุข" กรมพัฒน์จัดให้ ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ โดยอุปกรณ์ต่างๆ จะขอรับการสนับสนุนจากบริษัทห้างร้านต่างๆ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะส่งช่างไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไปเปลี่ยนติดตั้งไฟฟ้าในบ้านเรือนที่เสียหาย จากน้ำท่วมให้เพื่อความปลอดภัย รวมทั้งมาตรการลดเงินสมทบสำหรับลูกจ้าง นายจ้าง เหลือ 3 % เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเหมือนกับผู้ประสบภัยทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางด้วย" นายพิพัฒน์ กล่าว
ส่วนในพื่นที่จังหวัดยะลา นายสิรภพ ได้ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 4 จุด ประกอบด้วย หมู่ที่ 1, หมู่ 2, หมู่ที่ 3 และ หมู่ที่ 4 ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา รวมทั้งสิ้น 500 ชุด พร้อมตรวจเยี่ยมการให้บริการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา ซึ่งเปิดวันแรก มีผู้มาใช้บริการซ่อมรถจักรยานยนต์ 56 คัน เครื่องใช้ไฟฟ้า 55 รายการ
นายสิรภพ กล่าวว่ากระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยหลังจากนี้ ในช่วงน้ำเริ่มลดลง เราจะนำรูปแบบ “เชียงรายโมเดล” เข้าไปช่วยเหลือ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จะเร่งประสาน ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนนายอารี ที่ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพที่บ้านทุ่งไฟลาม หมู่ที่ 8 ตำบลช้างซ้าย อำเภอพระพรหม รวม 2 วันจำนวนกว่า 700 ชุด พร้อมตรวจเยี่ยมการให้บริการตรวจเช็คซ่อมรถจักรยานยนต์เบื้องต้น เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 22 นครศรีธรรมราช
นับเป็นภารกิจนายพิพัฒน์ รัชกิจประการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะที่ทุ่มเทช่วยพี่น้องชาวใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อย่างเต็มที่