ประเดิม Soft Power ฉบับมหาดไทย ชูส่งเสริมท่องเที่ยว 4 อัตลักษณ์ท้องถิ่น “ปลัดป๊อป” สนอง มท.หนู สั่ง 76 จังหวัด ดัน “878 อำเภอ 878 Soft Power” ติดแฮชแท็ก 4 รูปแบบ ขีดเส้น 1 ปี เห็นผลให้ อำเภอ- อปท.รายงานทุกวันที่่ 25 ของเดือน ดึงสารพัดภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด เป็นที่ปรึกษา เน้นใช้ทุนทางวัฒนธรรม+ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นกลไก สร้างรายได้ให้ประชาชน เฉพาะอาหารท้องถิ่น-สถานที่ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์-ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น-สินค้า/ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
วันนี้ (4 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ 5 นโยบาย ของรมว.มหาดไทย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นโยบายที่ 3 การสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ประชาชน และนโยบายที่ 4 การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก
ล่าสุด นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ป.มท.) ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เพื่อแจ้งแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนําอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Soft Power) เพื่อใช้เป็นกลไกต่อนโยบายดังกล่าว
โดยแนวทางดำเนินงาน ระดับจังหวัด ป.มท. สั่งการให้จังหวัดจัดประชุมซักซ้อมแนวทางการดําเนินงานร่วมกับอําเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด เช่น
สํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัด สํานักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด คณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) หอการค้าจังหวัด ภาคเอกชน และสื่อมวลชนในพื้นที่
เพื่อหารือแนวทางการดําเนินงาน โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นกลไก ในการสร้างรายได้ให้ประชาชน
ส่วนการดำเนินการในระดับอำเภอ และระดับ อปท. ให้สํานักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอําเภอ ประสานการดําเนินงานระดับอําเภอ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้อปท.ในพื้นที่ร่วมกันคัดสรร/สร้างสรรค์ อัตลักษณ์ท้องถิ่น (Soft Power) ที่มีความโดดเด่น
มาเป็นกลไกในการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน โดยการสร้างสรรค์ ส่งเสริมและพัฒนา ประกอบด้วย 1. ด้านอาหารของท้องถิ่น 2. ด้านสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ 3. ด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และ 4. ด้านสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (หมายเหตุ : ด้านใดก็ได้ หรือทุกด้านก็ได้)
ตลอดจนการอํานวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว โดยคํานึงถึงหลักการการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all)
โดยการกำหนดการจัดกิจกรรมในแต่ละด้าน ได้แก่ การจัดสร้างและพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว การรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว
การพัฒนาบริการท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยว การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ทางการท่องเที่ยว การสร้างสินค้าทางการท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว เป็นต้น
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการดำเนินงานของ อปท.สามารถดำเนินการได้ทั้งในฐานะหน่วยงานหลัก หรือหน่วยงานสนับสนุน
“ท้ายสุด ป.มท. ขอให้จังหวัด อําเภอ และ อปท. ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลการดําเนินงาน โดยใช้แฮชแท็ก (Hashtag) 4 รูปแบบ #เที่ยวท้องถิ่น #ของดีบ้านเรา #จังหวัด....(ชื่อ)... #อําเภอ....(ชื่อ)... ประกอบการเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ บนสื่อออนไลน์ เช่น Facebook TikTok เป็นต้น โดยขอให้ตั้งค่าโพสเป็นสาธารณะ”
ตามแผนให้ดำเนินการตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือนกันยายน 2568 ใช้งบประมาณของจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคเอกชน ตามตัวชี้วัดเชิงปริมาณ : จำนวนอัตลักษณ์ท้องถิ่น อำเภอละ 1 แห่ง รวม 878 อัตลักษณ์
ส่วนตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ : จังหวัด อำเภอ และ อปท.ในพื้นที่สามารถสร้างสรรค์ ส่งเสริม และพัฒนาอาหารของท้องถิ่น สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ หรือศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ให้เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Soft Power) ได้
คำสั่ง ป.มท. ยังให้จังหวัดรวบรวมและรายงานผลการดำเนินงานให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบ ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน ตามรูปแบบรายงานที่กำหนด