เมืองไทย 360 องศา
หากสังเกตให้ดีจะเห็นในช่วงเวลานี้สารพัดปัญหาเริ่มรุมเร้ารัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธา และทำลายความเชื่อมั่นลงไป โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อตัวนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นั่นเอง
หากพิจารณาจะเห็นว่า หลายเหตุการณ์ที่ประดังเข้ามาพร้อมๆกัน โดยเฉพาะกรณีที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาล และกระทบกับความเชื่อมั่นของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรี เริ่มจากกรณี เอ็มโอยู 44 ไทย-กัมพูชา ที่คนไทยจำนวนมากคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าไทยจะเสียดินแดน เสียประโยชน์จากการเสียอาณาเขตทางทะเล อีกทั้งยังต้องมาแบ่งปันผลประโยชน์ด้านทรัพยากรใต้ทะเลให้กับทางกัมพูชาเสียอีก
ที่สำคัญชาวบ้านไม่ไว้ใจในเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บิดาของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่เชื่อว่าเขามีส่วนผลักดันสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพราะมีการลงนามในเอ็มโอยู ฉบับนี้ เมื่อปี 2544 สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่ นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีความสนิทสนมกับ นายฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังมีอิทธิพลสูงในรัฐบาลกัมพูชา
เสียงคัดค้านต่อต้านอย่างหลากหลายในสังคมมีมาอย่างต่อเนื่อง และแรงขึ้น และกำลังกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิด “ม็อบลงถนน” หากรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินหน้าเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป โดยเมินเสียงเรียกร้องให้มีการยกเลิกเอ็มโอยูในทันที
อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีเดินหน้าอย่างชัดเจน เพราะล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมทางเทคนิก หรือ เจทีซี ย้ำว่า ยังไม่มีการเจรจาใดๆ เกิดขึ้น
นายภูมิธรรม กล่าวถึงกรณีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เตรียมขอเปิดสภาตาม มาตรา 155 พิจารณาปมเอ็มโอยู 44 ว่า แล้วแต่ผู้นำฝ่ายค้านที่จะยื่นเรื่องให้สภาพิจารณา และขอให้เป็นไปตามขั้นตอนของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว เรื่องเอ็มโอยูพูดกันมาเยอะแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้แต่คณะกรรมการ JTC ก็ยังไม่ตั้ง เรากำลังฟังฝ่ายกฎหมายที่กำลังศึกษาอยู่
“ขออย่าคิดอะไรไปก่อน รอให้มันเกิด ให้มันมีแล้วค่อยมาตั้ง ตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่าสนใจ เพราะยังไม่ทราบว่าใครเป็นคณะกรรมการ หรือประธาน เพื่อพิจารณาเรื่องเอ็มโอยูนี้” ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นายภูมิธรรม ระบุว่า ตนไม่ได้เป็นคนตั้ง
ก่อนหน้านั้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปให้ สส.และ สว.ได้อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง เอ็มโอยู 2544 เพื่อป้องกันการชุมนุมประท้วง ว่า โดยส่วนตัวคิดว่าไม่มีอะไร จะพูดอะไรกัน ในเมื่อพูดกันมามากมายแล้ว นั่นเป็นความเห็นส่วนตัวของนายนพดล แต่ตนรู้สึกว่ามันไม่ได้อะไร ส่วนใหญ่ของการใช้มาตรานี้คือ การมาคุยกัน มาพูดกันว่า ปัญหามันอยู่ตรงไหน ซึ่งเราพูดกันหมดแล้ว และที่จริงแล้วแก่นของมันไม่มีอะไร
ถามว่า รัฐบาลจะได้มีโอกาสชี้แจงด้วย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องตอบว่าสาระมันคืออะไร และเราคุยกันมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ว่าเป็นมาอย่างไร อย่างนู้น อย่างนี้ คณะกรรมการร่วมทางเทคนิก หรือ เจทีซี ไทย-กัมพูชา ก็ยังไม่ได้ตั้ง เจรจาก็ยังไม่ได้เจรจา อะไรก็ยังไม่ได้ทำ มันก็คุยได้แค่นั้น ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และโดยส่วนตัวคิดว่าไม่มีความจำเป็นถึงขั้นต้องเปิดประชุมสภา
นั่นเป็นเรื่องของเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิก หรือ เจทีซี ที่เวลานี้มีแต่ นายภูมิธรรม เวชยชัย เท่านั้นที่เป็นประธาน ขณะที่กรรมการยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการออกมา แต่อย่างใด ซึ่งหากมองมุมนี้เหมือนกับว่า รัฐบาลกำลังรอดูสถานการณ์บางอย่าง หรือไม่ โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านตามมา
กรณีเอ็มโอยู 44 ที่กำลังเป็นของร้อนกับรัฐบาล และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นถัดมาก็เป็นเรื่องสถานการณ์ชายแดนที่ต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ทางเหนือ ลงมาจนถึงทางใต้ จากกรณีทหารว้าแดง เข้ามาตั้งฐานที่มั่นที่ชายแดนไทย และทางฝ่ายไทยให้ถอนกำลังออกไป แต่จนบัดนี้ยังไม่มีท่าทีตอบสนอง จนทำให้สถานการณ์ตึงเครียด จนอาจเกิดการปะทะได้ตลอดเวลา หรือเหตุการณ์ล่าสุด ทางฝ่ายทหารพม่ายิงเรือประมงไทย บริเวณเกาะพยาม ใกล้กับจังหวัดระนอง จนลูกเรือประมงไทยเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บหลายราย โดยมีการจับกุมคนไทย ยังไม่มีการปล่อยตัวกลับมา
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิจารณ์และมีการตั้งคำถามตามมาว่าในรัฐบาลชุดนี้ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ทำไมฝ่ายพม่าถึงกล้ากระทำรุนแรงกับฝ่ายไทย มีความแข็งกร้าวแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบหลายปี
ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ก็ปรากฏว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นแบบถี่ยิบ เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น และเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจาก“เงื่อนไข” คดีตากใบ ที่เพิ่งหมดอายุความและไม่สามารถเอาผิดกับอดีตเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ และในจำนวนนั้นมี อดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย รวมอยู่ด้วย และหากสังเกตในรัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนสำหรับดูแลสถานการณ์ในชายแดนใต้ ระดับ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่เคยลงตรวจเยี่ยมในพื้นที่แต่อย่างใด
กรณีเกิดขึ้น ยังไม่นับเรื่องผลงานของรัฐบาลที่ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ล่าสุดจากการให้เปิดเผยของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ากำลังศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ เพื่อตระตุ้นการลงทุน และการหารายได้เพิ่มที่น่าสนใจก็คือ กำลังศึกษาเรื่องการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต จากปัจจุบันที่เก็บในอัตราร้อยละ 7 โดยเขาบอกว่าเป็นอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ
แน่นอนว่าการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว แม้ว่าเป็นการเพิ่มรายได้ แต่ขณะเดียวกันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังมีปัญหาเรื่องรายได้ และถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เสี่ยงต่อการถูกวิจารณ์หนักขึ้นกว่าเดิมอีก
เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลกำลังเจอมรสุมมากมายที่ประดังเข้ามา แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะพฤติกรรมและท่าทีของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีเอง จนทำให้หลายอย่างเริ่มเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการประเมินว่ารัฐบาลชุดนี้ จะอยู่ได้ไปจนถึงต้นปีหน้าหรือเปล่า โดยเฉพาะหากยังสร้าง “เงื่อนไข” อยู่ตลอดเวลา เช่น การ “เรียกม็อบลงถนน” จากกรณี เอ็มโอยู 44 รวมไปถึงการท้าทายความรู้สึกสังคมที่สะสมมากขึ้นทุกวัน !!