xs
xsm
sm
md
lg

จับตา "บอร์ดนมโรงเรียนชุดใหม่" ยุคนฤมล หลังปรับ "กรมปศุสัตว์" พ้นกรรมการและอนุฯ ทุกชุด ทั้งส่วนกลาง-ภูมิภาค ตามข้อเสนอ ป.ป.ช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา "บอร์ดนมโรงเรียนชุดใหม่" ยุค รมว.นฤมล หลัง ครม.ไฟเขียว ปรับ "กรมปศุสัตว์" ออกจาก "กรรมการและอนุกรรมการฯบริหารนมโรงเรียน" ทุกชุด ตั้งแต่ "อธิบดี" ยัน "ปศุสัตว์เขต - จังหวัด " ในระดับภูมิภาค ดึง "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เข้าเสียบแทนทุกระดับ ตามข้อเสนอ ป.ป.ช. หลังในอดีตพบปัญหาเพียบ! พร้อมให้ ก.เกษตร ประเดิมรายงาน ครม. อย่างครบถ้วน ปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการทุจริตนมโรงเรียนในแต่ละปี

วันนี้(3 ธ.ค.2567) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เชียงใหม่ 29 พ.ย.2567 โดยได้รับทราบความคืบหน้านโยบายการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หลังจากมีมติ ให้มีการรายงานผลให้ ครม.รับทราบอย่างครบถ้วน ปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการทุจริตนมโรงเรียนในแต่ละปี

ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในยุค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้เตรียมปรับโครงสร้าง "คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนได้ดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน" หลังจาก ครม.เห็นชอบให้ทบทวน

หลังจากในอดีตพบปัญหาความไม่สมดุลของปริมาณน้ำนมกับสิทธิการจำหน่าย ปัญหาการพิจารณาข้อมูลผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งปัญหาการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมในระดับฟาร์มยังดำเนินการได้ไม่เต็มศักยภาพ

สำหรับ โครงสร้างระบบบริหารใหม่ พบว่า เป็นการปรับกรรมการจากกรมปศุสัตว์ ออกทั้งหมด จากจำนวนคณะกรรมการฯ 15 คน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและรณรงค์การบริโภคนมไปยังสถาบันการศึกษาทุกระดับ

"ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยังนั่งเป็นประธานกรรมการ จะปรับให้ "อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์" เข้ามาเป็นกรรมการและเลขานุการ แทน "อธิบดีกรมปศุสัตว์" ส่วนจำนวนและองค์ประกอบอื่นคงเดิม"

เช่นเดียวกับ อนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ให้ "อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์" เป็นประธานอนุกรรมการแทน "อธิบดีกรมปศุสัตว์"

และผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการแทนผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภาพผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ส่วนจำนวนองค์ประกอบอื่นและอำนาจหน้าที่คงเดิม

ยังรวมถึง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) ให้ผู้แทนจาก "กรมส่งเสริมสหกรณ์" เป็นอนุกรรมการและเลขานุการในแต่ละกลุ่มแทน "ปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัด" ส่วนจำนวนองค์ประกอบอื่นและอำนาจหน้าที่คงเดิม

มีรายงานว่า ครม. 29 พ.ย.2567 ได้รับทราบผลการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 1 ที่มีการดำเนินการตั้งแต่สมัย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยยังนั่งเป็น รมว.เกษตรฯ

เช่น ได้ดำเนินการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน โดยใช้ข้อมูลปริมาณน้ำนมโคที่ได้จากการตรวจสอบของ คณะกรรมการอำนวยการฯ และคณะทำงานฯ ซึ่งมีปริมาณน้ำนมโคที่ใช้ในการโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 976.086 ตัน/วัน (มีปริมาณน้ำนมโคทั้งหมด จำนวน 2,821.86 ตัน/วัน)

และจัดสรรสิทธิให้สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์) 485.593 ตัน/วัน (ร้อยละ 50) และผู้ประกอบการภาคเอกชน (ไม่ใช่สหกรณ์) 485.593 ตัน/วัน (ร้อยละ 50) ซึ่งเป็นสัดส่วนเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบและคัดค้านด้วยแล้ว และปัจจุบัน (ปีการศึกษา 2567) ผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรสิทธิได้ดำเนินการเข้าทำสัญญากับสถาบันศึกษาและส่งนมให้เด็กนักเรียนได้ดื่มทั่วประเทศแล้ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น