“ธีระชัย” เปิดหลักฐานชัดๆ MOU44 เข้าข่ายเป็น “สนธิสัญญา” ตามคำนิยามในอนุสัญญากรุงเจนีวา มีเนื้อหาที่เป็นข้อตกลงความเมืองที่มีนัยสำคัญ คือการกำหนด "พื้นที่พัฒนาร่วม" ที่ส่งผลต่ออาณาเขตทางทะเล แต่เมื่อไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านรัฐสภา ไม่ได้ทูลเกล้าฯ จึงถือว่าโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ถ้ารัฐบาลชุดนี้แต่งตั้ง JTC ชุดใหม่ โดยไม่ทูลเกล้าฯ อาจเข้าข่ายละเมิดพระราชอำนาจ
วันนี้(1 ธ.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ในหัวข้อเรื่อง “ทำไม MOU44 เป็นโมฆะ?” มีรายละเอียดดังนี้
บทความนี้สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าต้องการทราบพยานหลักฐานว่าทำไม MOU44 ต้องทูลเกล้าฯ และเสนอรัฐสภา
รูป 1 อนุสัญญากรุงเจนีวา ข้อ 1 (a) (c) ระบุว่าสนธิสัญญาหมายถึง 'ข้อตกลง' ที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างสองประเทศที่ลงนามโดยผู้มีอำนาจเต็ม
รูป 2-5 แถลงการณ์ร่วมลงนามโดยอดีตนายกทักษิณและนายกฮุน เซน เนื้อความในข้อ 1 ถึง 13 เป็นเรื่องมโนสาเร่
เพียงแต่เห็นชอบร่วมกันในเรื่องที่ไม่ผูกมัดอะไร กล่าวคือ จะร่วมมือกันเพื่อ…
พัฒนา/ส่งเสริม/เน้นย้ำ/ร่วมงานกัน/ย้ำความสำคัญ/กระชับความร่วมมือ/ขยายความร่วมมือ/เสริมสร้าง/ส่งเสริม
ดังนั้น ถ้าหากแถลงการณ์ร่วมไม่มีข้อ 14 ซึ่งระบุการรับรอง MOU ก็ไม่เป็น'ข้อตกลง' ความเมืองที่เป็นสนธิสัญญา
-ถามว่า ทำไมการรับรอง MOU ทำให้แถลงการณ์ร่วมเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาไปด้วย?
*ตอบว่า เพราะ MOU มีเนื้อหาที่เป็น 'ข้อตกลง' ความเมืองอันมีนัยสำคัญ MOU จึงมีสถานะเป็นสนธิสัญญา
และยืนยันโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ตปท.ผู้ลงนามใน MOU อีกด้วยในจุลสารพิมพ์โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ
เมื่อ MOU เป็นสนธิสัญญา ก็ย่อมทำให้แถลงการณ์ร่วมที่รับรอง MOU มีสถานะเป็นสนธิสัญญาไปด้วยโดยปริยาย
-ถามว่า MOU (รูป 6-8) มีเนื้อหาที่เป็น 'ข้อตกลง' ความเมืองอันมีนัยสำคัญ ตรงไหน?
*ตอบว่า ตรงที่สองฝ่ายตกลงกันกำหนด "พื้นที่พัฒนาร่วม" ที่มีอาณาเขตชัดเจน แสดงอยู่ในแผนที่รูป 8
-ถามว่า ข้อความว่าสองฝ่ายตกลงกันกำหนด "พื้นที่พัฒนาร่วม" ที่มีอาณาเขตชัดเจน อยู่ตรงไหน?
*ตอบว่า ใน MOU ไม่มีข้อความชัดเจนเช่นนี้
แต่ข้อ 2 แบ่งพื้นที่ในแผนที่รูป 8 ออกเป็นสองส่วน คือ "พื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต" กับ "พื้นที่พัฒนาร่วม"
สำหรับ "พื้นที่พัฒนาร่วม" จะเจรจากันเรื่องปิโตรเลียม ส่วน "พื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต" จะเจรจาตกลงแบ่งเขตแดนในทะเล
และอ่านข้อ 3 จะเห็นเจตนาชัด เพราะกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค โดยคณะกรรมการร่วมฯ มีหน้าที่ :-
สำหรับ "พื้นที่พัฒนาร่วม" ให้เจรจาเฉพาะแบ่งประโยชน์ปิโตรเลียม
สำหรับ "พื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต" ให้เจรจาแบ่งเขตแดน
ดังนั้น จึงแสดงชัดเจนว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงในอาณาเขต "พื้นที่พัฒนาร่วม" แล้ว ไม่มีการระบุให้เจรจาเปลี่ยนแปลงขอบเขต boundaries นี้
-ถามว่า ข้อความตรงไหนที่ทำให้ต้องมีการเสนอ MOU ต่อรัฐสภาก่อน?
*ตอบว่า รูป 9 รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 วรรคสอง หนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลง 'เขตอำนาจแห่งรัฐ' ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
-ถามว่า MOU มีบทเปลี่ยนแปลง 'เขตอำนาจแห่งรัฐ' ตรงไหน?
*ตอบว่า รูป 10 เป็นแผนที่แนวเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย พื้นที่มีเส้นสีน้ำเงินคืออาณาเขตไหล่ทวีป เป็นไปตามพระบรมราชโองการ
รูป 11 อาณาเขต "พื้นที่พัฒนาร่วม" ที่ไปตกลงกัน จะทำให้อาณาเขตไหล่ทวีปของไทย ที่ไทยได้ประโยชน์ปิโตรเลียม 100% เปลี่ยนไป
ในส่วนที่เป็นสีเขียวที่ไปตกลงกันเป็นอาณาเขต "พื้นที่พัฒนาร่วม" นั้น ไทยจะได้ประโยชน์ปิโตรเลียมไม่เต็ม 100%
จึงเป็นการเปลี่ยนแปลง'เขตอำนาจแห่งรัฐ'ที่ไทยได้ประโยชน์ปิโตรเลียม 100% ให้เล็กลง
-ถามว่า รัฐบาลในปี 2544 ละเมิดพระราชอำนาจหรือไม่?
*ตอบว่า ควรจะได้กราบบังคมทูลฯ ตามมาตรา 224 วรรคแรก ทั้งเรื่องแถลงการณ์ร่วมและเรื่อง MOU แต่ไม่ได้ทำ
จึงเป็นการละเมิดพระราชอำนาจในปี 2544
-ถามว่า รัฐบาลในปี 2544 ควรจะได้เสนอทั้งแถลงการณ์ร่วมและ MOU ต่อรัฐสภาก่อนหรือไม่?
*ตอบว่า ควรจะได้เสนอรัฐสภาตามมาตรา 224 วรรคสอง แต่ไม่ได้ทำ
MOU จึงเป็นโมฆะ และใช้บังคับไม่ได้
-ถามว่า ถ้ารัฐบาลในปี 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคชุดใหม่ จะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจหรือไม่?
*ตอบว่า ในเมื่อข้อมูลเหล่านี้ปรากฏต่อสาธารณะ ถ้าไม่ทูลเกล้าฯ ทั้งที่รู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้ว รัฐบาลนี้ก็อาจเข้าข่ายละเมิดพระราชอำนาจในปี 2567
และจะขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 3 วรรคสอง ต้องชอบด้วยกฏหมายทุกขั้นตอน
รวมทั้งเมื่อการกระทำขัดต่อหลักนิติธรรม การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง