“ปานเทพ” ชี้ MOU44 ต้องโมฆะ เพราะไม่ผ่านสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และละเมิดพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปปี 2516 ที่ปฏิเสธการลากเส้นตามอำเภอใจของกัมพูชา และกำหนดให้การเจรจาในอนาคตต้องยึดหลักกฎหมายทะเลสากล ย้ำ ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือไทยได้ลาดตระเวนตามเส้นในพระบรมราชโองการ ก็ไม่เคยมีปัญหา จนกระทั่ง “ทักษิณ” เป็นนายกฯ ปี 44 และทำ MOU เอาเส้นของกัมพูชามารวม กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน จะพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน ทั้งที่ลากเส้นขึ้นมาแบบผิดๆ
วันที่ 24 พ.ย. 2567 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในรายการ “ความจริงมีหนึ่งเดียวเพื่อชาติ ครั้งที่ 4” ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถึงกรณี MOU 2544 ระหว่างไทยและกัมพูชา ว่า สังคมให้ความสนใจเรื่องนี้ เพราะมีข่าวว่า รัฐบาลไทยและกัมพูชากำลังจะเจรจากันเรื่องการพัฒนาแหล่งพลังงานในทะเลในพื้นที่ทับซ้อนตาม MOU44 ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบจากการอ้างสิทธิที่มากเกินความจริงของฝ่ายกัมพูชา รวมทั้งไทยเคยมีบทเรียนจากการเสียปราสาทพระวิหารมาแล้ว จากการที่ไทยไม่ปฏิเสธแผนที่ของฝรั่งเศส ไม่ปฏิเสธการสำแดงอธิปไตยของเขมรเหนือประสาทพระวิหาร
ทั้งนี้ ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 ไทยได้เกาะกูด และจังหวัดตราด คืนมาแลกกับการเสียพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ต่อมาก็มีแนวคิดจะพัฒนาแหล่งพลังงานในทะเลรอบเกาะกูด ในปี 2514 ไทยจึงให้สัมปทานปิโตรเลียมแก่บริษัท ยูโนแคล แต่ในปี 2515 กัมพูชารู้เข้าจึงรีบประกาศเขตไหล่ทวีป โดยอ้างสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เป็นสิทธิทางประวัติศาสตร์ เล็งจากหลักเขตที่ 73 ตรงไปเกาะกูดแล้วอ้อมเกาะกูดทะลุไปยังอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายทางทะเลสากล
ในปี 2516 ไทยจึงแก้เกม โดยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตไหล่ทวีป ตามหลักกฎหมายสากล ขีดเส้นแบ่งครึ่งทะเลระหว่างเกาะกูด กับจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา ส่วนการให้สัมปทานพลังงานก็ต้องหยุดไว้ก่อน เมื่อกัมพูชาขีดเส้นทับ
อย่างไรก็ตาม ไทยได้แบ่งอาณาเขตด้วยเส้นมัธยฐาน ตามหลักกฎหมายสากล และมีประกาศโดยพระบรมราชโองการ ถือเป็นคำสั่งของพระมหากษัตริย์ที่ให้นายกรัฐมนตรี รับสนอง ประกาศให้โลกรู้ว่าไทยมีเขตไหล่ทวีปตามกฎหมายสากล เท่ากับเป็นการปฏิเสธเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย
ทั้งนี้ พระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของไทยเป็นไปตามตามอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตทะเลต่อเนื่อง ที่ทำขึ้น ณ กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1958 ซึ่งไทยได้ลงสัตยาบันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 พร้อมได้วางรากฐานว่าในอนาคตหากจะเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลกับกัมพูชา ต้องยึดตามกฎหมายสากลดังกล่าวเท่านั้น เท่ากับว่า ได้ปฏิเสธการเจรจาตามเส้นของกัมพูชาตลอดไป โดยไทยต้องยึดเส้นตามพระบรมราชโองการไม่มีอย่างอื่น
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการปฏิเสธการขีดเส้นของกัมพูชา กองทัพเรือไทยจึงได้นำเรือลาดตรวะเวนตามแนวเส้นในพระบรมราชโองการจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่เคยมีการทะเลาะเบาะแว้งหรือมีข้อขัดแย้งกันจนถึงปัจจุบัน เรือประมงเข้ามาก็ถูกจับเพราะผิดกฎหมาย จึงไม่ถือว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน
จนกระทั่งปี 2544 ที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลับมีการเอาเส้นของกัมพูชามารวมกับเส้นตามพระบรมราชโองการ กลายเป็น MOU2544 แบ่งพื้นที่ทับซ้อนออกเป็น 2 ท่อน ท่อนบนจะเจรจาอาณาเขตก่อน ส่วนท่อนล่างไม่ต้องเจรจาเขตแดน จะพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกันเลย ทั้งที่มันเกิดจากการขีดเส้นที่ผิด
ตาม MOU2544 จึงถือว่าจากที่เคยปฏิเสธเส้นของกัมพูชา กลายเป็นไม่ปฏิเสธ ถือเป็นการขัดพระบรมราชโองการที่ให้เจรจาตามกฎหมายสากล ขณะที่ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ไม่รู้เรื่อง ยังดีใจว่ากัมพูชาขีดเส้นอ้อมเกาะกูดไว้ให้เรา แต่หารู้ไม่ว่าทรัพยากรใต้ทะเลที่ควรเป็นของไทยทั้งหมดกลับถูกกัมพูชามาแบ่งเอาไป
นอกจากนี้ กัมพูชายังพยายามให้ตัวเองได้เปรียบไทย ด้วยการไม่เข้าร่วมอนุสัญญายูเอ็นว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 (ยูเอ็นคลอส 1982) ที่กำหนดให้โขดหิน ซึ่งโดยสภาพแล้วมนุษย์ไม่สามารถอาศัยได้ ในการกำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือไหล่ทวีป เพื่อจะใช้โขดหินอ้างอิงลากเส้นกินพื้นที่ของไทยมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังสร้างสิ่งก่อสร้างยื่นออกมาในทะเลใกล้หลักเขตที่ 73 ซึ่งตาม ยูเอ็นคลอส ข้อ 11 จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฝั่งทะเล และสามารถอ้างอิงในการขีดเส้นแบ่งครึ่งทะเลตามหลักกฎหมายสากล โดยกินพื้นที่ของไทยเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งไทยก็แค่ประท้วงด้วยกระดาษ ทั้งที่หากเป็นฝ่ายไทยสร้างคงถูกทำลายไปแล้ว
นายปานเทพ กล่าวว่า เบื้องหลังของเรื่องนี้ ในปี 2551 มีข่าวการลงทุนของนายทักษิณ ที่เกาะกง กัมพูชา และ พล.อ.เตีย บัญ ยังมีการพูดถึงการลงทุนเรื่องพลังงาน โดยบอกว่า คงใช้เวลาอีกนาน และ 16 ปีผ่านไป นายทักษิณตัดสินใจจะทำตรงนี้ให้สำเร็จ จึงมาพูดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 บอกว่า อีกหน่อยพลังงานปิโตรเลียมจะไม่มีค่า ต้องรีบเอาขึ้นมาใช้ คนไทยจะได้ใช้พลังงานถูกลง ซึ่งไม่จริง เพราะสัมปทานเป็นของต่างชาติ เขาก็ยึดราคาตลาดโลก เราแทบไม่ไ่ด้อะไร
สำหรับ MOU2544 ที่อ้างว่า เป็นกรอบเจรจา เป็นการลงนามระหว่าง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับ นายซก อาน รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา และ นายทักษิณ ชินวัตร กับสมเด็จฮุนเซน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในแถลงการณ์เมื่อร่วมวันที่ 18 มิ.ย. 2544 รับรอง MOU2544 ด้วย นั่นคือ นายทักษิณ เป็นคนรับรองเอง ต่างจากแถลงการณ์ร่วมไทย-มาเลเซีย ที่ประกาศเป็นพระบรมราชโองการ
นายปานเทพ ย้ำว่า การเจรจาตาม MOU2544 ถือว่าขัดพระบรมราชโองการที่ให้เจรจาตามหลักกฎหมายทะเลสากล นอกจากนี้ ยังไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จะต้องถือว่าเป็นโมฆะ หรือถ้ายึดตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ก็มีกำหนดไว้ รวมทั้งมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีกำหนดไว้เช่นกัน
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า มีคนบอกว่า อย่าบอกว่าต้องยกเลิก MOU2544 เพราะเท่ากับว่า เราเคยยอมรับ แต่ถ้าบอกว่าเป็นโมฆะ ก็แปลว่า สิ้นผลตั้งแต่แรก ซึ่งเราจะทำให้มันเป็นโมฆะหลังจากนี้ เพราะการขีดเส้นของไทยต้องทำตามพระบรมราชโองการ คือ ถ้าจะมีการเจรจาต้องเจรจาตามกฎหมายสากลเท่านั้น ไม่ใช่การตกลงกันเองระหว่างทักษิณกับฮุนเซน