การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน การทำงาน การติดต่อสื่อสาร การจับจ่ายใช้สอย การรักษาความปลอดภัย การขับขี่ยานพาหนะและระบบนำทาง การช่วยเหลือในทางการแพทย์ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ฯลฯ ซึ่งรูปแบบเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลายส่งผลให้การใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และทำให้ปริมาณผู้ใช้งานเทคโนโลยี AI เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ใช้งานมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และส่งผลต่อมุมมองทางกฎหมายทั้งในการส่งเสริม การกำกับดูแล ตลอดจนการกำหนดความรับผิดจากการใช้งานเทคโนโลยีโดยตรงและจากผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อบุคคลภายนอก ทำให้ภาครัฐในฐานะที่มีภารกิจในการรักษาความมั่นคงของชาติ การพัฒนาประเทศ ตลอดจนการดูแลความสงบเรียบร้อยและการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องสอดส่องและเตรียมความพร้อมเพื่อให้การอำนวยความสะดวกของเทคโนโลยี AI สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังที่ปรากฏในยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการ (ยุทธศาสตร์ที่ ๒) โดยมีมาตรฐานและมาตรการในการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน การหลอกลวงประชาชนจากข้อมูลที่ระบบเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดังกล่าวที่ยังไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการกำกับดูแล และได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ....
โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อพัฒนากรอบกฎหมายในการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI ของไทย ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมายแล้ว (www.law.go.th) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อมูลและความคิดเห็นที่ได้รับไปพิจารณาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการตรากฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ ต่อไป
นอกจากการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายภายใน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกับหน่วยงานด้านกฎหมายประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้เข้าร่วมการหารือในเวทีด้านกฎหมาย Asian Legislative Experts Symposium (ALES) ครั้งที่ ๑๒ ซึ่งจัดโดยกระทรวงกฎหมายแห่งรัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลี (Ministry of Government Legislation หรือ MOLEG) และสถาบันวิจัยกฎหมายแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Legislation Research Institute (KLRI)) ในหัวข้อ “Law Encounters AI: Cooperation Measures for Advancing Legal Tech in Asia” เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในภาครัฐ การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาธรรมาภิบาล AI และการกำหนดมาตรฐานกลางด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการร่วมมือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการใช้ประโยชน์และการรับมือเทคโนโลยี AI ตลอดจนความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจมีขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการเตรียมความพร้อมดังกล่าวของไทยจะมิได้ทำเฉพาะในด้านกฎหมาย แต่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้กฎหมายและการปฏิบัติสามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกัน