xs
xsm
sm
md
lg

"นพดล" ยัน MOU44 ไม่ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา แผนผังแนบท้ายแค่สะท้อนการอ้างสิทธิ์ แนะ "หมอวรงค์" หาความรู้ให้ลึกซึ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"นพดล" แนะ "หมอวรงค์" หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ ชี้เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ชี้แผนผังแนบท้ายแค่สะท้อนการอ้างสิทธิของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การยอมรับเส้นของกัมพูชา

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ตอบโต้ว่านายนพดลตอบมั่วๆ เรื่องที่ว่าไทยไม่เคยยอมเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา และหมอวงค์อ้างแผนผังแนบท้ายเอ็มโอยู 44 ว่าเป็นหลักฐานว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา ในเรื่องนี้ขอเรียนหมอวรงค์ว่าตนจบกฎหมายจากออกซฟอร์ดและจบเนติบัณทิตไทยและเนติบัณทิตอังกฤษ ตนจึงไร้ความสามารถที่จะตอบแบบมั่วๆ 

 และขอเรียนพี่น้องคนไทยว่า เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา เนื่องจาก 4 เหตุผลคือ 1)ไม่มีเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 ตอนใดเลยที่ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาประกาศ 2)หมอวรงค์ต้องอ่านให้เข้าใจว่าแผนผังแนบท้ายเอ็มโอยู 44 เพียงสะท้อนเส้น 2 เส้นที่กัมพูชาประกาศฝ่ายเดียวและเส้นที่ไทยประกาศ มันคือการสะท้อนการอ้างสิทธิ์สูงสุด (maximum claim) ของทั้งสองฝ่ายเพื่อใช้ในการเจรจา ไม่ใช่เท่ากับว่าไทยไปยอมรับ (admit) เส้นของกัมพูชา ถ้าตีความว่าแผนผังนั้นเท่ากับไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา มันก็ต้องตีความในทำนองเดียวกันว่ากัมพูชายอมรับเส้นที่ไทยยึดถือด้วยใช่หรือไม่ 3) ฝ่ายไทยไม่เคยมีการกระทำหรือพฤติกรรมไปยอมรับเส้นของกัมพูชา 4) เนื้อหาในข้อ 5 ของเอ็มโอยู 44 ระบุไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่า เนื้อหาเอ็มโอยู 44 และการเจรจาตามเอ็มโอยู จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา 

 ในประเด็นนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมายก็แถลงไปแล้วว่าเอ็มโอยูไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา ตนจึงขอเรียกร้องให้หมอวรงค์เห็นแก่บ้านเมืองมากกว่าวาระการเมืองและยุติการให้ความเห็นผิดๆ เสีย เพราะการตีความว่าเอ็มโอยู 44 ไปยอมรับเส้นของกัมพูชานั้นไม่เป็นผลดีต่อท่าทีของประเทศไทย และมันไม่จริงอีกด้วย

นายนพดล กล่าวต่อว่า หมอวรงค์กล่าวหาว่าตนเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอย่าตอบมั่วๆ ตนขอย้ำว่าคนอย่างตนไม่เคยมั่ว หมอวรงค์เคยสังกัดพรรคการเมืองที่เคยใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2551 ว่า ทำให้ไทยเสียดินแดนบริเวณปราสาทพระวิหารใช่หรือไม่ ทั้งๆที่ความจริงไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 แต่ปัญหาคือในปี 2551 กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนทั้ง 1)ตัวปราสาทพระวิหาร และ 2) พื้นที่ทับซ้อน เป็นมรดกโลก แต่ตนได้เจรจาจนกัมพูชายอมตัด พื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาท ซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จและไปฟ้องเอาผิดตน ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาฯก็ได้พิพากษายกฟ้องตนและในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบสิทธิในดินแดนของไทยและไทยจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน ตนจึงไม่อยากเห็นการสร้างวาทกรรมเสียดินแดนอีกเพราะเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศมาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น