วันนี้(22 พ.ย.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือถึง นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อ ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางานพร้อมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพคนต่างด้าว จำนวน 12 คน ซึ่งอาจจะกระทำผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือไม่ พร้อมทั้ง เสนอขอให้แก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพคนต่างด้าว ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตาม มติคณะรัฐมนตรี 24 กันยายน 2567 เพื่อเปิดกว้างให้กับทุกบริษัทให้สามารถเข้ามารับทำประกันภัยให้กับแรงงานต่างด้าว กว่า 3-4 ล้านคนได้อย่างเสรี
นายมงคลกิตติ์ ระบุว่า มูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (มตช.) ได้รับร้องเรียนจากผู้ประกอบการบริษัทประกันภัย จำนวนหลายราย ว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ออกคำสั่งกรมการจัดหางาน ที่ 939/2567 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพคนต่างด้าว สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เมื่อ 8 กรกฎาคม 2567 และ ได้ประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพคนต่างด้าว ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตาม มติคณะรัฐมนตรี 24 กันยายน 2567 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ต่างๆ จำนวน 13 ข้อ เช่น ต้องเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย ต้องเป็นบริษัทประกันภัยที่ไม่ขาดทุนติดต่อกันเกิน 3 ปี(ปี 2564-2566 ประเทศไทยยังมีวิกฤติโควิด) ผู้ยื่นข้อเสนอห้ามดำเนินการลดเบี้ยประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยเกินจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) กำหนด จะต้องกำหนดให้คนต่างด้าวจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ เป็นต้น ซึ่งปรากฏว่า หลังจากที่ มีการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ไป ทำให้มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ที่สามารถทำตามเงื่อนไขทั้ง 13 ข้อได้ ถือเป็นการกำหนดเงื่อนไขอาจจะจงใจเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทประกันภัยเพียงแค่ 2 บริษัทดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 11-13 ของ พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือไม่ ดังนั้น จึงขอให้ น.ส.แพรทองธาร ดำเนินการตามที่ตนได้ยื่นหนังสือมาในวันนี้
เดิมทีใน ปี 2566 บริษัทประกันภัยให้ส่วนลดกับบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศหรือแรงงานต่างด้าว 100-450 บาท/คน ไม่ได้จ่ายส่วนต่างให้ฝ่ายการเมืองเนื่องจาก มีบริษัทประกันกว่า 16 บริษัท แข่งขันราคาและคุณภาพกันมาก ทั้งนี้ หลังจากที่มีเกณฑ์นี้ ในปี 2567 ออกมา ทำให้บริษัทที่เคยเสนอการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าวนั้น ในปี 2566 กลับไม่สามารถยื่นข้อเสนอมารับทำประกันภัยให้กับแรงงานต่างด้าวได้ เนื่องมาจากเกณฑ์ที่กำหนดให้ในบางข้อ มีความยากในการปฏิบัติ โดยเฉพาะข้อ 2 ต้องเป็นบริษัทประกันภัยที่ไม่ขาดทุนติดต่อกันเกิน 3 ปี(ปี 2564-2566 เป็น ช่วงวิกฤติโควิด) ข้อ 7.ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีงบแสดงฐานะการเงินปี 2566 ที่มีการรับรองผลกำไรสุทธิแล้วต้องแสดงค่าเป็นบวก 1 ปีสุดท้ายก่อนวันยื่นข้อเสนอ(ปี 2566 หลัง 1 ก.ค.66 ประเทศไทยเพิ่งเริ่มจะฟื้นจากภาวะวิกฤติโควิดเอง) ข้อ 9.ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเต็มจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ข้อ 10.ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท(เป็นจำนวนสินทรัพย์ที่กำหนดสูงมากเกินไปเกินความจำเป็น) และข้อ 11.ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสัดส่วนความพอเพียงของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR RATIO) ไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566(ปกติ คปภ.เคยกำหนดไม่เกินร้อยละ 140) ซึ่งบริษัทประกันที่ร้องเรียนมายังผม
“ผมมีความเห็นว่า ไม่มีความเป็นธรรม เสมือนเป็นการล็อคสเปคอย่างชัดเจน รวมทั้ง ยังมีข้อสงสัยว่า นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางานพร้อมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพคนต่างด้าว จำนวน 12 คน อาจจะเข้าข่ายมีพฤติกรรมที่อาจจะไม่โปร่งใส โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.ฮั้ว 2542 ดังนั้น จึงอยากจะให้ นายกรัฐมนตรีรีบดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าวโดยด่วน เพราะกระทบถึงภาพลักษณ์ของหน่วยงานราชการ ธุรกิจประกันวินาศภัย และสุขภาพของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยด้วย " นายมงคลกิตติ์กล่าว