“นายกฯ” โชว์วิสัยทัศน์ เวที Forbes ดัน เศรษฐกิจไทย ชูซอฟต์พาวเวอร์ รับมือความท้าทาย หวังเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ลั่น จุดยืนไทยวางตัวเป็นทูตสันติภาพ เผย เวทีต่างประเทศ มักเจอคำถามถึงพ่อ-อา ตลอด
วันนี้ (21พ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงแรม The Ritz Carlton, One Bangkok ถนนวิทยุ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมกิจกรรมการสนทนาแบบ one-on-one กับ น.ส.มอร์รา ฟอร์บส์ (Moira Forbes) รองประธานบริหาร Forbes Media และประธานและผู้จัดพิมพ์ ForbesWomen ในงาน Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 ถึงประเด็นที่อยู่ในความสนใจระดับโลก ทั้งการลงทุน และโครงสร้างพื้นฐานที่จะดึงดูดการลงทุน ซอฟต์พาวเวอร์ ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในหลากหลายประเด็น โดยมีผู้บริหารภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักลงทุนชั้นนำของโลกกว่า 400 ราย เข้าร่วมงาน
นายกฯ กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของไทยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เสริมสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและการเดินทาง เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลัก เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การเชื่อมโยง การปรับโครงสร้างหนี้ของครัวเรือน และ SME โดยทางอะเมซอน (Amazon), กูเกิล (Google) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) ได้ประกาศการลงทุนครั้งใหญ่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ และ AI ในประเทศไทย รวมถึงกานลงทุนศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งรัฐบาลพร้อมผลักดันนโยบายและมาตรการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่างๆ
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีที่ตั้งที่จะเอื้ออำนวยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกัน และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเข้มแข็ง รวมถึงความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และมีบุคลากรที่มีความสามารถ เป็นรากฐานที่ทำให้ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งต่อการเติบโตในระยะยาวในภูมิภาค และประเทศไทย ยังมีความเป็นกลางและยืดหยุ่นซึ่งได้รับความเชื่อมั่นในการลงทุนจากนักธุรกิจทั่วโลก
นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Amazon, Google และ Microsoft โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่อำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และยังมีการลงทุนมูลค่าสูงในโครงการด้านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนากลุ่มคนที่มีทักษะนอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้าง soft power ที่คนไทยมีทักษะงานฝีมือ (craftsmanship) ที่เป็นเลิศ และมีวัฒนธรรมที่ยาวนาน รัฐบาลจึงมีวิสัยทัศน์ในการนำมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามาสร้างสรรค์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยยกระดับทักษะและการปรับทักษะใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในต่างประเทศผ่านนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน 14 สาขา สำหรับการค้าและการลงทุน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน ทำงานร่วมกันในธุรกิจ เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เซมิคอนดักเตอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล AI และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และต้องประกาศกับโลกว่า เราพร้อมแล้วตอนนี้เรานิ่งแล้ว สงบสุขแล้ว
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการลงทุนด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ และการดูแลสุขภาพ การสร้างเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและยั่งยืน เพื่อดึงดูดนักลงทุนและผู้ประกอบการจากทั่วโลก และเสริมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า รัฐบาลมีงบประมาณเงินในการออกนโยบายช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะนำเงิน 10,000 บาท ไปช่วยเหลือ เนื่องจากจะนำเงินไปใช้ทันทีมากกว่าเก็บ ขณะเดียวกัน ก็มีแผนจะแจกเงินอีก 10,000 บาท ให้กับคนกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการจัดลำดับความสำคัญ เพราะต้องการให้เงินนั้นเกิดการสะพัดในระบบเศรษฐกิจ
“บนเวทีการประชุมต่างๆ คำถามที่เจอบ่อย คือ คุณพ่อเป็นอย่างไรบ้าง ก็พยายามตอบในมุมธุรกิจ แต่มักเจอคำถามเรื่องคุณพ่อ เป็นคำถามแรก และเดี๋ยวจะได้ยินเสียงคุณพ่อในเย็นวันนี้ ส่วนคำถามที่สองที่มักเจอ ก็คือ แล้วคุณอา เป็นอย่างไรบ้าง” น.ส.แพทองธาร กล่าว ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะจากห้องประชุม
ขณะที่บทบาทของไทยและสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำเสนอตัวเองในฐานะว่าเป็นทูตของสันติภาพและความมั่งคั่ง นี่คือ หลักการของประเทศไทย คือ ความสงบ สันติ และความมั่งคั่ง แต่หากมองถึงประธานาธิบดีทรัมป์ มุมมองทางเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยน ในภาพของการส่งออก ซึ่งเราจะต้องมีนโยบายที่สนับสนุน โดยพยายามทำให้คนไทยเข้าใจวิธีการ ซึ่งในวันของทรัมป์ไม่ได้เป็นปัญหากับเรา เนื่องจากเราส่งออก GDP 10% ไปยังสหรัฐอเมริกา และตนก็พร้อมจะเปิดตลาด พร้อมปรับนโยบาย ซึ่งทราบดีว่าทุกคนมีความกังวล โดยรัฐบาลมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี
“เชื่อว่า ทุกคนต้องการเห็นความก้าวหน้าในระยะยาว และในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง รัฐบาลมีการวางแผนไว้ 10 ปี เราต้องสร้างรากฐานก่อน ไม่ว่ารัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน อยากให้นโยบายต้องยึดมั่นกับประชาชนและประโยชน์เหล่านี้ จะต้องอยู่กับประชาชนให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ อย่าง นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มีมา 20 ปีที่แล้วปัจจุบันก็ยังมีนโยบายนี้อยู่ ตนไม่อยากให้ประโยชน์หมดไปอยู่ที่รัฐบาล หมดชุดหนึ่งก็จบ ไม่ได้ ตนอยากจะสร้างรากฐานเข้าไปให้รากยาว แบบนโยบายที่ได้สร้างขึ้น ก็อยากจะให้อยู่ยาวตลอดไป และตนมั่นใจว่าจะเห็นได้อย่างแน่นอน”