xs
xsm
sm
md
lg

“มทร.ธัญบุรี”แจง กลุ่มผู้สอบสายงานบริหารท้องถิ่น มท. ยัน คกก.ออก-ข้อสอบ ยึดตามกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(20 พ.ย.)ผศ.ณัชติพงศ์ อูทอง รองอธิการบดี รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ได้ทำหนังสือชี้แจง เพื่อตอบข้อทักท้วงการออกข้อสอบสายงานบริหารท้องถิ่น สืบเนื่องจากมีกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล และพนักงานส่วนตำบล)บางส่วน ซึ่งเป็นผู้สมัครสรรหาให้ดำรงตำแหน่งสายงานบริหารท้องถิ่นของในแต่ละจังหวัด ได้ส่งข้อทักท้วงถึงการออกข้อสอบสายบริหารท้องถิ่น ในสนามสอบ 9 จังหวัดที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น

โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ทำการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการออกข้อสอบคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ได้ประชุมพินิจพิเคราะห์ข้อสอบทั้งหมด และตอบข้อทักท้วงทั้ง 3 ประเด็นดังนี้ข้อ 1. ประเด็นการออกข้อสอบที่ไม่สามารถนำมาใช้งานจริงตามระเบียบหรือวิธีปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นนั้น ทางคณะกรรมการฯ มีความเห็น ยืนยันว่า แบบประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 3 ข้อ ตามแบบ 3/1 แบบ 3/2 แบบ 3/3 และขั้นการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่น เป็นแบบประเมินผลที่ใช้อยู่จริงตามหลักและระบบการประเมินผลตามคู่มือการติดตามและประเมินผลการจัดทำและแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนของปัจจัยนำเข้า (input) ส่วนของกระบวนการติดตาม (process) และส่วนของการประเมินผล (output) โดยในส่วนของการประเมินผลนั้น มีแบบประเมิน 3 แบบ ดังนี้ 1) แบบที่ 3/1 แบบประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 2) แบบที่ 3/2 แบบประเมินความพอใจต่อการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาพรวม 3) แบบที่ 3/3 แบบประเมินความพอใจต่อผลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ การติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาท้องถิ่น เป็นแบบประเมินผลที่ใช้อยู่จริงตามหลักและระบบการประเมินผลตามคู่มือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สามารถนำมาใช้จริงได้ตามระเบียบหรือวิธีปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดังนั้นข้อสอบทั้ง3 ข้อนี้ไม่ต้องยกคะแนนให้กับผู้เข้าสอบทุกคน

ส่วนข้อทักท้วงประเด็นที่ 2 เรื่องข้อสอบหลายข้อพิมพ์ประโยคคำถามผิดทำให้ความหมายเปลี่ยน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เข้ารับการสอบเข้าใจคลาดเคลื่อนเลือกตัวจึงเลือกของคำตอบผิด โดยขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการหรือคณะทำงานในการดำเนินการออกข้อสอบว่ามีความคลาดเคลื่อนในขั้นตอนใดนั้น คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ในการดำเนินการออกข้อสอบ คณะกรรมการหรือคณะทำงานได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการออกข้อสอบตามหลักการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และของกระทรวงมหาดไทยทุกขั้นตอน โดย 1)เขียนคำถามในแบบฟอร์มการออกข้อสอบ
2) คณะกรรมการออกข้อสอบรวบรวมข้อสอบเป็นรายวิชาและส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ
3) คณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบดำเนินการคัดเลือกข้อสอบและตรวจสอบคำตอบเป็นรายวิชาและส่งพิมพ์
4) คณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบดำเนินการพิสูจน์อักษรและแก้ไขให้ถูกต้อง 5) คณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ
ตรวจความถูกต้องอีกครั้งและส่งให้คณะกรรมการจัดพิมพ์ข้อสอบปรับแก้ไขให้ถูกต้องและจัดหน้ากระดาษข้อสอบ

ทั้งนี้ ในกรณีที่ข้อสอบพิมพ์ผิดพลาด ทำให้ความหมายเปลี่ยน ทำให้ผู้เข้าสอบเข้าใจคลาดเคลื่อนและเลือกคำตอบผิดนั้น ในประเด็นนี้ มหาวิทยาลัยฯและคณะกรรมการฯ เห็นว่า ผู้เข้าสอบทุกคนควรจะต้องใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ข้อคำถามและคำตอบที่คิดว่าถูกต้องเท่านั้น


ส่วนประเด็นที่ทักท้วง เรื่องตัวเลือกของคำตอบซ้ำกันมากกว่าหนึ่งตัวเลือกนั้น คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ในการดำเนินการจัดทำข้อสอบ จะมีคำแนะนำในการทำข้อสอบอยู่ที่เอกสารข้อสอบทุกฉบับ เพื่อให้ผู้เข้าสอบอ่านทำความเข้าใจให้ถูกต้องและสามารถใช้วิจารณญาณในการเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียวเท่านั้น เป็นหลักการคิดวิเคราะห์ข้อถูกและข้อผิดของคำตอบ ดังนั้นผู้เข้าสอบจึงต้องเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว

ทั้งนี้ ภายหลังรับเรื่องข้อทักท้วง ทางคณะกรรมการออกข้อสอบและคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ ได้ประชุมหารือ พบว่ามีข้อสอบเกิดการพิมพ์ผิดพลาดบางส่วน คณะกรรมการฯ จึงมีข้อสรุปให้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นทันที โดยยกประโยชน์ให้กับผู้เข้ารับการสอบในข้อที่เกิดการพิมพ์ผิดพลาดนั้น โดยให้คณะกรรมการฯ ทำการประมวลผลคะแนนใหม่อีกครั้ง จึงทำให้มีผู้ผ่านเกณฑ์การสอบของภาคความรู้ความสามารถทั่วไป และภาคความรู้เฉพาะตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง และได้ส่งข้อมูลรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเพิ่มเติมไปให้ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ประเด็นทักท้วงข้อที่ 3.เรื่องการวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ที่ใช้ในการออกข้อสอบไม่อยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งมิได้เกี่ยวข้องกับการทดสอบความรู้ความสามารถทั่วไปในการปฏิบัติงานของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เช่นคำถามว่า “กรมตำรวจ” เปลี่ยนเป็น“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ“ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ฉบับที่เท่าใด พ.ศ.ไหน ตามที่ผู้ทักท้วงยกตัวอย่างมานั้น คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า การวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของผู้เข้าสอบ คณะกรรมการออกข้อสอบสามารถใช้วิจารณญาณในการออกข้อสอบที่อยู่ภายในขอบเขตเนื้อหาของในการทดสอบความรู้ความสามารถทั่วไป เพื่อนำมาใช้วัดความรู้ทั่วไปของผู้เข้าสอบได้ ซึ่งไม่เฉพาะว่าต้องเป็นความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องและใช้ในการปฏิบัติงานของราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้น และเนื่องจากการสอบในครั้งนี้ เป็นการสรรหาข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ดังนั้นข้อสอบนี้เป็นเพียงความรู้ทั่วไปขั้นพื้นฐานที่ข้าราชการในสายงานผู้บริหารควรต้องรู้

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะผู้ดำเนินการจัดสอบสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งสายงานบริหารท้องถิ่น ได้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของการออกข้อสอบสรรหาข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารครั้งนี้ รวมถึง รายงานผลการดำเนินการสอบภาค ก.และภาค ข. ที่ผ่านมา ให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้ว เพื่อยืนยันว่าทางมหาวิทยาลัยฯและคณะกรรมการฯได้ทำตามหลักการของกระทรวงมหาดไทยทุกขั้นตอน ที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้


กำลังโหลดความคิดเห็น