xs
xsm
sm
md
lg

แจกเงินหมื่นฝนไม่ทั่วฟ้า แค่หย่อมอากาศต่ำ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนัดแรก เคาะเดินหน้าแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ราว 3-4 ล้านคน โดยเป็นการแจกเงินสดเหมือนเฟสแรก คาดใช้วงเงินราว 40,000 ล้านบาท ได้เงินไม่เกินตรุษจีนปี 68 ส่วนเฟสถัดไป คาดว่าจะดำเนินการได้ใน เม.ย.-มิ.ย.68 เนื่องจากต้องรอทบทวนรายละเอียด และรอระบบให้พร้อมก่อน

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังเห็นชอบหลักการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนใน 3 กลุ่ม ได้แก่ บ้าน รถยนต์ และหนี้เพื่อการบริโภค โดยให้มีการพักชำระดอกเบี้ย 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระในช่วงแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายดนุชา พิชนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย

นายกฯ กล่าวก่อนการประชุมว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ซึ่งตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ขยับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 และ 2 ที่ขยายตัว ที่ร้อยละ 1.6 และ 2.2 ตามลำดับ เมื่อรวมทั้งสามไตรมาส เศรษฐกิจไทยโตอยู่ที่ร้อยละ 2.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยการอุปโภคภาครัฐบาล การลงทุนภาครัฐ การส่งออก การท่องเที่ยวและภาคการก่อสร้าง ซึ่งตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกให้เศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวดีต่อเนื่อง

ส่วนเรื่องภาระหนี้สินครัวเรือน แม้ว่ากลางปี 2567 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะปรับตัวลดลงเหลือร้อย 89.6 จากร้อยละ 90.7 ของไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยในแต่ละเดือนประชาชนมีภาระในการชำระหนี้สูง และมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ จึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และSME ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการพิจารณาออกแบบมาตรการแก้ปัญหาหนี้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของประชาชน ขณะที่ในระยะยาวรัฐบาลให้ความสำคัญกับมาตรการเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการชุดนี้จะร่วมกันกำหนดและออกแบบนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว

การแจกเงินดิจิทัลเฟสสอง ดังกล่าว หากสังเกตให้ดีจะเป็นว่าเป็นไปตามที่ นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวบนเวทีหาเสียงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ที่จังหวัดอุดรธานีเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเขาย้ำว่า “แจกแน่ แม้ว่าจะมาช้า แต่มาแน่” แล้วมาวันนี้ ก็มาจริงๆ

ก่อนหน้านั้น นายทักษิณ ถามชาวอุดรธานีว่า ใครได้เงิน 10,000 ไปแล้วบ้าง คนที่ไม่ได้ อยากได้หรือไม่ มาแน่ มาช้าดีกว่าไม่มา ใช่หรือไม่ และเป็นวัฒนธรรมที่สืบมาจากพรรคไทยรักไทย ที่พูดอะไรแล้วต้องทำ

แน่นอนว่า หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในเฟส 2 ที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงตรุษจีนปีหน้านั้น จะแจกเฉพาะคนสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวน 3-4 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ถือว่า “ผิดเป้าหมาย” ไปมาก แต่เป็นเพียงการหาคะแนนเสียง และการหาเสียงล่วงหน้าเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ด้วยจำนวนคนที่ได้รับแจก และใช้งบประมาณที่น้อย มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือที่ก่อนหน้านี้รัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ใช้คำว่า “พายุหมุน”

อีกทั้ง ยังเป็นการใช้งบประมาณ “แบบกระจาย” ไม่มีความต่อเนื่อง จากเฟสแรกที่แจก “กลุ่มเปราะบาง” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวน 14.5 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งในเฟสแรกดังกล่าวนั้นก็ถือว่า “ผิดเป้าหมาย” ไปมาก และผลที่ออกมาก็ไม่ได้เป็นแบบ “พายุหมุน” แต่อย่างใด สังเกตได้จากบรรยากาศที่สะท้อนออกมาออกไปในทาง “เงียบมาก” จนฝ่ายค้าน อย่าง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายในสภาเยาะเย้ยว่า ไม่ใช่พายุหมุน แต่เป็นไปได้แค่ “หย่อมความกดอากาศต่ำ”เท่านั้น

ในช่วงต้นของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โครงการแจก “เงินดิจิทัล” หมื่นบาทถือเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย มีการเน้นย้ำมาตลอดว่า “แจกทันที แจกรวดเดียว แจกทุกคนที่มีอายุ16 ปีขึ้นไป” จำนวน 50 ล้านคน จำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แบบกระชาก และแบบพายุหมุน แต่เอาเข้าจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะ “ไม่มีเงิน” เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด แม้ว่าเมื่อตอนหาเสียงจะบอกว่าจะไม่ใช่เงินงบประมาณก็ตาม

ที่ผ่านมามีความพยายามจะไปล้วงเอาเงินจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารออมสิน ก็ทำไม่ได้ติดเงื่อนไขด้านกฎหมาย จนในที่สุดก็ต้องใช้วิธีตั้งงบประมาณ งบกลาง ในปี 2567 และปี 68 แต่ก็ทำได้แค่ “แจกกลุ่มเปราะบาง” จำนวนราว 14.5 ล้านคนเท่านั้น จากเดิมที่บอกว่าแจกทั้งหมด 50 ล้านคน

ขณะเดียวกันเมื่อจะแจก “เฟสสอง” ก็ยังทิ้งช่วงเวลาห่างออกไปนายหลายเดือน จากเฟสแรกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะไปแจกเอาราวเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และด้วยงบประมาณเพียงแค่ 4 หมื่นล้านเท่านั้น ดังนั้น ในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจถือว่า “เบาบาง” มาก

อย่างไรก็ดีการ “ดัดแปลง” นโยบายแจกเงินดิจิทัล ที่กลายมาเป็น “แจกเงินสด” จนผิดแบบไปอย่างสิ้นเชิง และทั้งสองเฟสด้วยจำนวนเงินงบประมาณไม่ถึง สองแสนล้านบาท ผิดไปจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งเอาไว้ราว 5 แสนล้านบาท และที่บอกว่าจะให้ “เป็นแบบพายุหมุน” ทางเศรษฐกิจ นั้นก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะได้เห็นสภาพความจริงตั้งแต่แจกเฟสแรกไปแล้ว ว่าทุกอย่างเงียบมาก และกลายเป็นการกระตุ้นให้กับ “ร้านสะดวกซื้อ” ของ “เจ้าสัว” มากกว่า

ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วงานนี้ การแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท ถือว่าผิดเป้าหมายอย่างมาก จากเดิมที่อ้างว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรง เพื่อให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีเติบโตแบบก้าวกระโดด คือราว 4-5 เปอร์เซนต์ต่อปี นั้น ในความจริงแล้วเป็นไปไม่ได้เลย และที่สำคัญ “ไม่มีเงินมาแจก” ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวมาเป็นเน้นการ “หาเสียงล่วงหน้า” ด้วยการแจกให้กับ “ผู้สูงอายุ” ที่มีจำนวนแค่ 3-4 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และกลายเป็น “หย่อมความกดอากาศต่ำ”เท่านั้น !!


กำลังโหลดความคิดเห็น