“แพทองธาร” นั่งหัวโต๊ะ ประชุม ศก. พบรวม 3 ไตรมาส GDP ขยายตัว 2.3% - หวัง คกก.ออกแบบนโยบายกระตุ้น ศก.ได้ทั้ง ระยะสั้น-ระยะยาว
วันนี้ (19 พ.ย.) เวลา 13.10 น. ที่ตึกถักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567
นางสาวแพทองธาร กล่าวก่อนการประชุม ว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 18 พ.ย. จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 GDP ขยายตัวที่ 3% ต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ขยายตัว 1.6% และ 2.2% ตามลำดับ โดยเมื่อรวมทั้ง 3 ไตรมาส พบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการอุปโภคภาครัฐบาล การลงทุนภาครัฐ การส่งออก การบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และภาคก่อสร้าง
ตัวเลขของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะมีศักยภาพที่เติบโตมากกว่านี้ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้น เพื่อผลักดันนโยบายตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา ให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพไปพร้อมๆ กับการดูแลคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งกำหนดแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว
สำหรับระยะสั้นนี้ รัฐบาลจะมุ่งเน้นในการเพิ่มรายได้และบรรเทาค่าครองชีพสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการผ่านการอุดหนุนค่าครองชีพสำหรับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย และกลุ่มคนพิการ ดังนั้น ในระยะต่อๆ ไป ควรพิจารณาความเหมาะสมในการช่วยเหลือแก่กลุ่มอื่นๆ ต่อไป เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญ คือ ภาระหนี้สินประชาชน แม้ว่าในช่วงกลางปี 2567 ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะปรับตัวลดลงเหลือ 89.6% จาก 90.7% ของไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง ในแต่ละเดือนประชาชนมีภาระในการชำระหนี้สูง และอาจมีความเสี่ยงในการที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ จึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และสินเชื่อ SME ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณาออกแบบมาตรการแก้ปัญหาหนี้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาวินัยการเงินการคลังขิงประชาชน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแก้ไขปัญหาขณะนี้ยังอยู่ที่ประชาชน แต่เมื่อมองไปข้างหน้าในระยะยาวรัฐบาลก็จะให้ความสำคัญกับมาตรการ เพื่อจะเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการชุดนี้จะร่วมกันกำหนดและออกแบบนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว