ตามที่ปรากฎเป็นข่าว กรณีเกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด ว่า มีกลุ่มผู้เสียหายเป็นครอบครัวของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจในจังหวัดพัทลุง ได้ออกมาร้องเรียน กับสื่อมวลชน ว่าทายาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถถอนเงินค่าหุ้นจากสหกรณ์ได้ ภายหลังจากพ่อหรือสามีได้เสียชีวิตไป ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน นั้น
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่า “สืบเนื่องจากเมื่อปี 2564 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ตรวจการสหกรณ์เข้าตรวจสอบกิจการและฐานทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด พบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในสหกรณ์ มูลค่าความเสียหายราว 1,461 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่อง และดำเนินคดีกับผู้กระทำการทุจริตเพื่อรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำเงินมาชดใช้คืนสหกรณ์โดยเร็ว ต่อมาสหกรณ์เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง ปัจจุบันอยู่ในชั้นของการดำเนินคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง และมีการจับกุมตัวผู้ต้องหา รวมทั้งมีการยึดอายัดทรัพย์สินผู้ต้องหาแล้วบางส่วน ซึ่งกรณีการทุจริตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ ทำให้ในปีบัญชี 2564 สหกรณ์มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมกว่า 1,244 ล้านบาท ส่งผลให้หุ้นที่สมาชิกถือมีมูลค่าหุ้นติดลบ 18.49 บาท (จากมูลค่าหุ้นละ 10 บาท) ซึ่งสหกรณ์ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยในปีบัญชี 2565 – 2566 สหกรณ์มีกำไรสุทธิประจำปีจากการดำเนินงาน ทำให้ในปีบัญชี 2566 มูลค่าหุ้นที่ติดลบกลับมามีมูลค่า 0.66 บาท/หุ้น สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพในปีบัญชี 2566 จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าหุ้นคืนตามมูลค่าดังกล่าว”
สหกรณ์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสหกรณ์ซึ่งมีสมาชิกเป็นเจ้าของ ดังนั้น การที่สมาชิกถือหุ้นในสหกรณ์จึงเป็นการลงทุนในฐานะเจ้าของ มิใช่การฝากเงินหรือฝากทรัพย์ในสหกรณ์โดยสมาชิกผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้นเป็นเงินปันผลในแต่ละปีตามผลการดำเนินงานของสหกรณ์ หากปีใดสหกรณ์มีผลการดำเนินงานขาดทุนสมาชิกจะไม่ได้รับเงินปันผลในปีนั้น แต่หากสหกรณ์มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมจนส่งผลให้มูลค่าหุ้นที่สมาชิกถือลดลง สมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของจึงต้องรับผิดในส่วนขาดแห่งทุนนั้น โดยสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพในปีใด จะมีสิทธิได้รับเงินค่าหุ้นคืนตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกถือ ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตามนัยมาตรา 42 แห่งระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
“ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เข้าช่วยเหลือแนะนำรวมทั้งกำกับดูแลสหกรณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สหกรณ์สามารถแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มูลค่าหุ้นที่สมาชิกถือกลับมาเต็มมูลค่าเท่าเดิม ซึ่งการที่สหกรณ์จะฟื้นฟูได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์” นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ กล่าวเพิ่มเติม