“สมศักดิ์” เดินหน้าดันยาสมุนไพรไทยเต็มที่ ตั้งเป้าปี 69 มีมูลค่าใช้ถึง 3พันล. สั่งเพิ่มรายการในบัญชียาหลักแห่งชาติในสปสช.-ปรับระบบจ่ายยาสมุนไพรตาม 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย หวังกระตุ้นการใช้สมุนไพรไทย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานความคืบหน้าการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร ในระบบบริการสุขภาพและทิศทางการขับเคลื่อนสมุนไพรในระดับประเทศ โดยภาพรวมมูลค่าการใช้ยาในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ปีงบประมาณ 2567 มูลค่ารวม 70,543 ล้านบาท แบ่งเป็น ยาแผนปัจจุบัน 68,983 ล้านบาท คิดเป็น 97.79% และยาสมุนไพร 1,560 ล้านบาท คิดเป็น 2.21% ซึ่งเมื่อดูการใช้ยาสมุนไพรตามระดับหน่วยบริการ พบว่า รพ.สต. ใช้มากที่สุด กว่า 783 ล้านบาท รพช. 545 ล้านบาท รพท. 151 ล้านบาท และ รพศ. 80 ล้านบาท จึงมีการวางเป้าหมายว่า ปี 2569 จะส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร ที่ 3,000 ล้านบาท
“จากนโยบายส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร ผมจึงวางกลยุทธ์การดำเนินการในระดับนโยบาย คือ ประกาศการเบิกจ่ายการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทุกรายการ ใน สปสช. ปรับระบบการจัดบริการและผลักดันการจ่ายยาสมุนไพรตาม 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ในระบบบริการสุขภาพทุกแห่ง ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาลของรัฐ ร้านยาคุณภาพ อสม. และส่งเสริมงานวิจัยด้านยาสมุนไพร โดยเรื่องการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย ได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร ผมจึงเชื่อว่า จะสามารถผลักดันให้เกิดการใช้ในประเทศได้อีกจำนวนมาก” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า จากข้อมูลการใช้ยาสมุนไพร พบว่า กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อยกับการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก จำนวน 10 อันดับ คือ 1.กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ 2.กลุ่มอาการไข้หวัด/โควิด19 3.กลุ่มอาการท้องอืด 4.กลุ่มอาการท้องผูก 5.กลุ่มอาการวิงเวียนคลื่นไส้อาเจียน 6.กลุ่มอาการชาจากอัมพฤกษ์-อัมพาต 7.กลุ่มอาการทางผิวหนัง 8.กลุ่มอาการนอนไม่หลับ 9.กลุ่มอาการท้องเสีย และ 10.กลุ่มอาการเบื่ออาหาร ซึ่งจากข้อมูลการใช้ยาสมุนไพรของโรคที่พบบ่อย ก็จะทำให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถพัฒนาสมุนไพรได้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ใช้ โดยจะตรงกับนโยบายของตน ที่ต้องการส่งเสริมเพิ่มการใช้สมุนไพร เพื่อลดการใช้ยาของต่างประเทศ ตนจึงสั่งการให้เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในการเบิกจ่ายจาก สปสช.แบบ Fee Schedule และปรับระบบบริการผู้ป่วยนอก(OPD) ที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในผู้ป่วย 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ด้วย