xs
xsm
sm
md
lg

“วิโรจน์” เปิดรายงานประชาชนฟื้นฟูน้ำท่วมเชียงราย หวั่นหนี้สินซ้ำเติม แนะรัฐให้ ธ.ออมสิน ช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิโรจน์” เปิดรายงานประชาชนฟื้นฟูน้ำท่วมเชียงราย หวั่นหนี้ครัวเรือนซ้ำเติม เสนอรัฐบาลต้องให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสถาบันการเงินในระบบ อาทิ ธนาคารออมสิน เพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่ เตรียมถามนายกฯ เพิ่ม ปัญหาบ่อบำบำบัดน้ำเสียแม่สายขวางทางน้ำ
.
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน แถลงเปิดรายงานประชาชนอาสาฟื้นฟูน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ที่ Sol Bar อาคารอนาคตใหม่ชั้น 2 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 พฤศจิกายน โดยกล่าวว่า อุทกภัยครั้งที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.เชียงราย ไม่ได้มีแค่น้ำ แต่เป็นน้ำป่าและโคลนถล่ม ทิ้งร่องรอยความเสียหายที่ยากต่อการฟื้นฟู ถือเป็นอุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบเศรษฐกิจมากเป็นลำดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ของประเทศนับตั้งแต่ปี 2547 โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ อ.แม่สาย ทั้งนี้ การทำงานของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูเมืองทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว การแถลงของตนในวันนี้จึงเปรียบเหมือนการชวนเก็บรายละเอียด โดยต้องขอขอบคุณทุกคนทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วม หวังว่าภัยพิบัติเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ไปช่วงเกิดอุทกภัยเมื่อเดือนกันยายน สส.เชียงราย พรรคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เขต 1, นายฐากูร ยะแสง เขต 3 และ น.ส.จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เขต 6 ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้นทันที และประสานงานกับหน่วยงานราชการ ต่อมาวันที่ 20 กันยายน สส.ชิตวัน เริ่มตั้งทีมฟื้นฟูล้างบ้านโดยได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิกระจกเงา และได้รายงานให้ที่ประชุม สส.ของพรรคประชาชนทราบว่าภารกิจฟื้นฟูเมืองให้เสร็จโดยเร็วมีความสำคัญมาก เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในฤดูหนาวที่ใกล้มาถึง ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว
พรรคประชาชนจึงมอบหมายให้ตนเป็นตัวแทน สส. ในการจัดตั้ง “ศูนย์ประชาชนอาสา” ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการระดมอาสาสมัคร จนเมื่อสภาปิดสมัยประชุม ต้นเดือนพฤศจิกายน สส.พรรคประชาชน จึงลงพื้นที่ร่วมทำกิจกรรมอาสาตักโคลนล้างบ้านฟื้นฟูเมืองที่ จ.เชียงราย ร่วมกับภาคประชาชนด้วย

ตลอดการทำงานตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโครงการเมื่อ 4 ตุลาคม ต้องขอขอบคุณมูลนิธิกระจกเงาที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำในการตั้งระบบ ทำให้กลุ่มประชาชาอาสาล้างบ้านหลังแรกได้ในวันที่ 9 ตุลาคม และหลังสุดท้ายวันที่ 6 พฤศจิกายน ก่อนปิดโครงการวันที่ 9 พฤศจิกายน รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 37 วัน ทำความสะอาด 95 จุด แบ่งเป็นอำเภอเมือง 38 จุด อำเภอแม่สาย 57 จุด ช่วยเหลือประชาชนทั้งสิ้น 317 คน ใช้งบประมาณกว่า 1,200,000 บาท

ในเวลานั้นภาครัฐแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยดูแลพื้นที่ อ.เมือง ส่วนกองทัพดูแล อ.แม่สาย

อย่างไรก็ดี มีพื้นที่ซอยหนึ่งใน อ.เมืองเชียงราย อยู่ติดกับบ้านธนารักษ์ซึ่งเป็นบ้านสวัสดิการของกองทัพบก มีโคลนในซอยสูงถึง 80 เซนติเมตร - 1 เมตร กลุ่มประชาชนอาสาไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ศักยภาพของเครื่องจักรที่ท้องถิ่นมีอยู่ ก็ไม่สามารถจัดการได้

หลังจากตนประเมินสภาพพื้นที่ จึงได้พูดคุยขอคำปรึกษาจากเจ้ากรมยุทธการทหารและเจ้ากรมทหารช่าง ซึ่งต้องขอบคุณที่ในเวลาต่อมา ทหารช่างส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่อย่างรวดเร็ว นี่คือตัวอย่างของการร่วมแรงร่วมใจทำงาน เราผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนทั้งราชการและท้องถิ่นเพื่อให้งานสำเร็จ

(1) จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงการชดเชยเยียวยาอย่างรวดเร็วไม่ตกหล่น

(2) จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินในระบบ เพราะจากการลงพื้นที่ ตนพบว่าทุกบ้านจะมีบัตรของแหล่งเงินกู้นอกระบบตกอยู่ตามพื้นเต็มไปหมด แสดงว่านายทุนเงินกู้นอกระบบรู้ว่าชาวบ้านคนตัวเล็กต้องการเงินทุนเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ธนาคารออมสินซึ่งเป็นกลไกหลักของรัฐ ทำให้ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้ ไม่เช่นนั้นหลังจากนี้ภาวะหนี้ครัวเรือนจะยิ่งซ้ำเติมชาวเชียงราย

(3) ระบบระบายน้ำที่พร้อมรองรับฤดูฝนในปี 2568 เพราะเราเชื่อว่ายังมีโคลนค้างอยู่ในท่อบางจุด จึงจำเป็นต้องมีการลอกท่อครั้งใหญ่ ข้อจำกัดตอนนี้ คือ งบประมาณของท้องถิ่นอาจร่อยหรอลงเพราะต้องนำเงินสะสมไปใช้ในช่วงภัยพิบัติ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องพิจารณางบประมาณให้เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือประชาชน

(4) ปัญหาเอกสารสิทธิในที่ดิน เนื่องจากหลายบ้านไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้เข้าไม่ถึงการชดเชยเยียวยา รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน รวมถึงย้ายประชาชนที่ปัจจุบันอาศัยในพื้นที่เสี่ยง ให้ออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

(5) ปัญหาบ่อบำบัดน้ำเสียที่ อ.แม่สาย ที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าสร้างขวางทางไหลของน้ำหรือไม่ ตอนนี้บ่อชำรุด รัฐควรให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบว่าขวางทางน้ำจริงหรือไม่ ปรับปรุงให้มีการระบายน้ำที่ดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ ในอนาคตจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำเดิม

โดยเรื่องนี้ตนได้ตั้งกระทู้ถามไปยังนายกรัฐมนตรีให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนทราบว่ารัฐจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากยังมีประชาชนไม่สบายใจ กังวลว่าปีหน้าจะเกิดเหตุแบบปีนี้ ซึ่งนายกฯ มีหนังสือตอบกลับมาแล้ว ขอเวลาในการตอบเพิ่มเติม ตนจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป

(6) การขุดลอกแม่น้ำสาย เนื่องจากเป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยและเมียนมา การทำอะไรจึงมีข้อจำกัดเพราะมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพูดคุยว่าจะขุดลอกแม่น้ำสายร่วมกันอย่างไร ทำระบบเตือนภัยให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำได้ประโยชน์ รวมถึงพิจารณาปัญหาการรุกล้ำลำน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น