ครม.เห็นชอบทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ แก้ปมที่ดินทำกินในเขตอุทยานฯ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สางปัญหาม็อบเรียกร้องรัฐบาลแก้ไข แจง กำหนดคุณสมบัติชัดใน4 อุทยานฯ 2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ย้ำ ต้องมีสัญชาติไทย-ให้อยู่อาศัยทำกิน-ไม่สามารถโอนครอบครองได้
เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 12 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา โครงการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่าพ.ศ. 2562 เพื่อพิจารณาผลกระทบและมีประชาชน มายื่นเรื่องเรียกร้องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลแก้ไข โดยร่างทั้งสองฉบับได้มีการบังคับใช้มานานจึงต้องมีการทบทวน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2.ฉบับ กำหนดให้มีโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ,เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไม่มีกำหนดระยะเวลา 20 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ เพื่อให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการชั่วคราว โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินให้ชัดเจน ไม่ให้ขยายพื้นที่อีก และกำหนดให้โครงการดำเนินการในพื้นที่ตามที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีแนวเขตโครงการที่กำหนด ไว้ในแผนที่ท้าย จำนวน6แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่วันที่มีข้อยุติแล้ว ได้แก่ อุทยานแห่งชาติมีจำนวน4แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว, อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ,อุทยานแห่งชาติเขา15ชั้นจังหวัดจันทบุรี และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า2แห่ง คือ เขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จังหวัดลพบุรี
โดยผู้ที่จะอยู่อาศัยและทำกินจะต้องอยู่ภายใต้โครงการ และมีรายชื่อตามผลสำรวจการถือครองที่ดินของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ทำเสร็จไปแล้วครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ และในกรณีที่มี2ครอบครัวขึ้นไป ซึ่งทำกินอยู่ในสถานที่ทำกินเดียวกัน ให้อยู่อาศัยหรือทำกินได้ไม่เกิน40ไร่ และผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการดังกล่าว จะแบ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดิน สมาชิกในครอบครัว โดยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยไม่มีที่ทำกินหรือที่อยู่อาศัย ไม่เคยต้องคำพิพากษา หรือถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำลายป่าหรือการล่าสัตว์สัตว์ป่า นอกจากนั้นผู้ที่ครอบครองไม่สามารถโอนการครอบครองหรือยินยอมให้บุคคลบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวหรือครัวเรือน เข้ามาอยู่อาศัยทำกินไม่ได้ และผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกิน ต้องมีหน้าที่ดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ แถลงว่า ก่อนจะนำร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐบาลได้ทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มาร้องสิทธิ์ โดยที่ประชุมได้ผ่านความเห็นชอบ
พระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชกฤษฎีกา โครงการอนุรักษ์และ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 แห่ง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 โดยมีสาระสำคัญคือการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและสามารถอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าได้ โดยประชาชนเหล่านั้นไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เพราะฉะนั้นจะมีอยู่พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ลพบุรี และ เพชรบูรณ์ และเรื่องนี้รัฐบาลได้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสิทธิ์ที่จะได้มาโดยตลอด
นายประเสริฐ กล่าวว่า นายภูมิธรรม ได้สั่งการในที่ประชุมครม. ให้รีบดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ. วนอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ มาแก้ไขกฎหมายอีกสองฉบับให้สมบูรณ์ขึ้น มอบหมายให้คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว
“ ขณะนี้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาของประชาชน ซึ่งโครงการ และพระราชกฤษฎีกา ทั้งสองฉบับเป็นประโยชน์เป็นประโยชน์กับประชาชน”