เมืองไทย 360 องศา
เวลานี้กรณี “เอ็มโอยู 44” ระหว่างไทย-กัมพูชา กำลังกลายเป็นกระแสความไม่พอใจและไม่ไว้ใจรัฐบาล ที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอย่างที่รับรู้กันว่า ปฐมเหตุเริ่มมากจากการลงนามในเอ็มโอยูดังกล่าว ในยุครัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลในยุคปัจจุบันเรื่องดังกล่าวก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเจรจาอย่างรวดเร็ว และจริงจัง จนแทบจะเรียกว่าเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนเลยทีเดียว
มูลเหตุแห่งความไม่ไว้ใจ และความสงสัยส่วนใหญ่มาจากความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร กับ “ฮุนเซน” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีอิทธิพลสูงสุดในกัมพูชาเวลานี้ จนมองว่าสนิทสนมเกินความเป็นญาติสนิทเสียด้วยซ้ำ และสาเหตุที่การเจรจาจะต้องเดินหน้า เพราะล่าสุดน.ส.แพทองธาร ได้ย้ำว่า ยกเลิกเอ็มโอยูไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นสาเหตุให้กัมพูชาฟ้องร้องเราได้ และการเจรจามีแต่ได้ประโยชน์
แน่นอนว่า การเดินหน้าเจรจาระหว่างรัฐบาลสองประเทศ เชื่อว่าหลายคนมองเห็นตรงกันว่า เกิดจากความต้องการของ “สองคน” คือ ทั้ง นายทักษิณ และ ฮุนเซน โดยเชื่อว่าหวังประโยชน์ด้านพลังงานที่อยู่ใต้ทะเลในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และที่ผ่านมาได้ให้สัมปทานกับบริษัทพลังงานต่างชาติไปนานแล้ว จนนำมาสู่การตั้งคำถามว่า แล้วคนไทยจะได้ประโยชน์จากพลังงานที่ว่านี้หรือไม่ หรือว่ายังต้องใช้น้ำมันราคาแพงเหมือนปัจจุบันนี้ หรือไม่ เพราะหากจะได้ก็เพียงแค่ค่าภาคหลวงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ นายทักษิณ พยายามออกมาพูดในทำนองเบี่ยงเบนประเด็น แบบไม่สมควรต้องตื่นเต้นอะไรนัก โดยเขา กล่าวถึง MOU2544 ระหว่างไทย-กัมพูชา ว่า บันทึกข้อตกลงที่จะคุยกันในเรื่องที่ยังไม่ได้ตกลงกัน ยังไม่เรียกว่าเป็นข้อตกลง ที่ไม่ต้องเข้าสภา เพราะเป็นเพียงบันทึกข้อตกลง ที่จะคุยกันในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายไม่ตกลงกันว่า จะปรับตัวเข้าหากันได้อย่างไร เป็นแนวที่จะคุยกัน ไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ, สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในช่วงที่ประเทศกัมพูชาเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตกใจ ไม่มีอะไรเลย บางคนไม่ทราบว่าเอ็มโอยู 44 คืออะไร แต่ขอตีไว้ก่อน เมื่อถามว่า มีการนำประเด็นดังกล่าวมาโจมตีรัฐบาล นายทักษิณ กล่าวว่า ไม่เห็นมีอะไรให้ตื่นเต้นเลย
ส่วนที่มีการนำเรื่องดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของนายทักษิณ กับประเทศกัมพูชานั้น นายทักษิณ ระบุว่า เป็นคนละเรื่องกัน
“ตอนที่ผมเป็นนายกฯ ตอนที่มีปัญหาเรื่องการบุกเผาสถานทูตไทยประจำกัมพูชา ตอนนั้นเป็นเพื่อนสนิทกันเลย แต่ถือว่าผลประโยชน์ประเทศมาก่อน โดยมีการคุยกันว่า ถ้าเอาไม่อยู่ จะส่งเครื่องบินไปรับ ผมก็ส่งไปรับ ไม่เห็นมีอะไรเลย ผลประโยชน์ประเทศมาก่อน ความเป็นเพื่อน ก็คือเพื่อน แต่ผลประโยชน์ของประเทศคือคนละเรื่องกัน” นายทักษิณ กล่าว
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวหลังจากไปตรวจเยี่ยมกำลังพลของกองทัพเรือ ข้าราชการฝ่ายปกครอง
“ตรงนี้เป็นการยืนยันให้ทุกคนสบายใจ เพราะข่าวที่ออกมามันสับสน ยืนยันว่า กองทัพเรือเรายังสามารถดำเนินการและปกป้องอธิปไตยบริเวณเกาะกูดได้อย่างไม่มีปัญหา และจากการสอบถามความสัมพันธ์ของนายทหารที่ดูแลของทั้งสองประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ดี และฝ่ายนั้นยอมรับแล้วว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของประเทศไทย ส่วนเรื่องของเอ็มโอยู ที่จะมีการคุยกัน ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับดินแดน เป็นเพียงเรื่องของการดำเนินการในเรื่องที่ยังไม่เข้าใจกันหรือยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน โดยจะเป็นกรอบที่จะหารือร่วมกันต่อไป ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2515 มีการคุยกันเรื่องนี้ต่อเนื่องตลอดมา”
ถามว่า การตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย จะชัดเจนเมื่อไหร่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า นายกฯเคยพูดว่า จะมีความชัดเจนหลังจากนายกฯ กลับมา ถ้าดำเนินการได้ก็จะดำเนินการ แต่หากยังติดขัดอะไรก็ต้องรอ ทั้งนี้ หากนายกฯกลับมาเชื่อว่าทุกอย่างไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังเตรียมการเรื่องนี้อยู่ และเท่าที่ดูเราพยายามเปิดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วยให้มากที่สุด โดยเฉพาะคนที่รู้ทุกๆ ด้าน เช่น กรมอุทกศาสตร์ หรือทางฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา ตนคิดว่า รอดูตอนออกมาก่อน ขอให้ทุกฝ่ายได้ทำงานดีกว่า และไปดูเรื่องอื่นดีกว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย อย่าไปพูดให้มันเป็นประเด็น โดยที่ไม่มีมูลเหตุที่จะเป็นประเด็นได้เลย ทั้งนี้ ขอย้ำว่า เรื่องนี้จะต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการเพื่อเสนอให้นายกฯนำเข้า ครม.
ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่า ประชาชนบางส่วนยังไม่ไว้วางใจรัฐบาลเท่าที่ควร นายภูมิธรรม ย้อนถามว่า ประชาชนส่วนไหน เพราะก็มีไม่กี่ส่วนนี่แหละ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เกาะกูด เขายังรู้สึกไม่ดีเลยว่า ทำไมมาพูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะเขารู้สึกว่า มันกระทบกระเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ฉะนั้น รอให้มันมีกิจกรรมหรือมีผลของการเจรจาออกมาก่อน ซึ่งคิดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร จากนั้นค่อยมาถกเถียงกันดีกว่า
อย่างไรก็ดี จากคำพูดดังกล่าวของฝ่ายรัฐบาล และ นายทักษิณ เชื่อว่าทำให้หลายคนยังไม่สบายใจ กับความเสี่ยงในเรื่องดินแดน และที่สำคัญก็คือ “ไม่ไว้ใจ” โดยเฉพาะในเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ด้านพลังงานมหาศาลในพื้นที่บริเวณนั้น เหมือนกับการตั้งข้อสังเกต ของบรรดาผู้รู้หลายคนที่ว่า ในเรื่อง “เกาะกูด” นั้นไม่ต้องสงสัยใดๆ เพราะเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ.122 และพิธีสารแนบท้าย ค.ศ.1907 ซึ่งไทยใช้เป็นหลักฐานในการปักปันเขตแดนกับกัมพูชา ระบุข้อความในข้อ 2 ว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิง ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม …" และปัญหาถัดมาก็คือ การแบ่งทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลบริเวณเกาะกูด และการทำแผนที่ทับซ้อนทางทะเล ที่มองว่าฝ่ายไทยเสียเปรียบ และไม่ควรเจรจาเพราะเป็นของไทยมาแต่เดิมอยู่แล้ว
หากพิจารณาจากอารมณ์ของคนไทยจำนวนมากเวลานี้ กรณีเอ็มโอยู 44 ระหว่างไทย-กัมพูชา ล้วนมาจากความไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจ นายทักษิณ ชินวัตร ที่มองว่าอยู่เบื้องหลังรัฐบาลที่มีลูกสาวของเขาเป็นนายกรัฐมนตรี และยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด จนบางครั้งมากกว่าความเป็นญาติกันเสียอีก หากย้อนกลับไปดูพฤติกรรมที่ผ่านมา และแม้ว่าจะพยายามย้ำให้เห็นว่า เราไม่เสียเกาะกูดแน่นอน ซึ่งมันก็ใช่อยู่แล้ว เพราะมันเป็นของไทยตั้งแต่ต้น มีสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ยืนยันมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ปัญหาคือ พื้นที่ใต้ทะเลที่ต้องแบ่งทรัพยากรให้กัมพูชาต่างหาก
ดังนั้น หากรัฐบาลยังเดินหน้าเจรจาในเอ็มโอยูดังกล่าว เชื่อว่า จะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตรอบใหม่ เพราะเวลานี้ กระแสต่อต้านเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ และเสียงที่มาจากทุกทิศทาง รวมไปถึงบรรดานักกฎหมาย และผู้รู้มากมาย ต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็น “วาระซ่อนเร้น” มีประโยชน์ทับซ้อนของบางคนเท่านั้น!!