“หม่อมกร” หวั่นคำแถลงของนายกฯ เรื่องเกาะกูด ตกหล่นประเด็นกัมพูชาลากเส้นโดยผิดกฎหมายสากลและละเมิดสิทธิของไทย แต่กลับพูดถึงอย่างสบายใจ กลายเป็นประโยชน์ของฝ่ายกัมพูชา ย้ำ มีผู้ทรงคุณวุฒิเคยคัดค้าน MOU2544 ไว้แล้ว เตือนเดินหมากผิดพลาด มีอาณาเขตประเทศเป็นเดิมพัน
วันนี้ (9 พ.ย.) ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ที่ปรึกษาศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คุยกับหม่อมกร” ว่า คำแถลงของนายกฯ เรื่องเกาะกูด มีผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศอย่างยิ่ง
ท่านนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า การลากเส้นของกัมพูชาในปี พ.ศ. 2515 กับของไทยในปี พ.ศ. 2516 นั้น ไม่เหมือนกัน แต่ที่กัมพูชาขีดเส้นเว้นเกาะกูด อ้อมเกาะกูดของเรา ชัดเจนเลยว่าอ้อม เกาะกูดจึงไม่อยู่ในการเจรจานี้เลย เขาก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้…. เรื่องเกาะกูดไม่มีปัญหาแน่นอน ไม่มีเลยจริงๆ ค่ะ
(ตามลิงก์นี้https://youtu.be/E1sv6dZhVw4?si=l3sSzw742tJRVK5F)
ผมเห็นว่า คำแถลงดังกล่าว เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย มีความเป็นไปได้ว่า คณะทำงานของนายกฯ ไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายทะเลสากลของกัมพูชา !!!
ในมหามกุฏราชสันตติวงษ์ ราชสกุลเกษมศรี มีสายเลือดตราด ผมจึงขอใช้สิทธินี้ในการแสดงความเห็นโต้แย้งคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ว่า ผมไม่ได้ห่วงเรื่องเกาะกูด เพราะมีคนไทยอยู่กินมาช้านานแล้ว แต่สิ่งที่ห่วงวันนี้ คือ น่านน้ำภายในของจังหวัดตราด และทะเลอาณาเขตของเกาะกูดด้านทิศใต้ ซึ่งกฎหมายสากลให้ค่าเทียบเท่ากับแผ่นดินไทย รวมถึงการใช้เกาะกูดเป็นเส้นฐาน Base Line ให้กัมพูชาใช้ลากเส้นตรงไปใกล้อ่าวตัว ก.เกิดเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ผิดกฎหมาย
แต่รัฐบาลไทยกลับให้กัมพูชา นำพื้นที่ส่วนนี้เข้าไปอยู่ในเขตแดนของเขาเพื่อใช้ในการเจรจากับไทยได้ จึงเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติที่นายกฯ พึงกระทำ
เส้นเขตแดนที่กัมพูชาขีดเส้นตรงออกจากหลักเขตที่ 73 ตำบลหาดเล็ก จังหวัดตราด ตรงไปยังเกาะกูด แล้วอ้อมตัวเกาะยิงตรงไปกลางอ่าวไทยเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงต่างประเทศและในกองทัพย่อมทราบดีว่า กัมพูชา ขีดเส้นเกินกฎหมายกำหนดไปมาก ละเมิดสิทธิของไทย อย่างแจ้งชัด การแถลงรับรู้ (แม้ไม้ได้ยอมรับ) และกล่าวถึงอย่างสบายใจถึงเส้นของกัมพูชาที่ผิดกฎหมาย ย่อมเป็นประโยชน์ของฝ่ายกัมพูชาที่อาจจะนำคำแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยมากล่าวอ้างได้ จึงย่อมสุ่มเสี่ยงต่อประเทศไทยที่จะเสียประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต
อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการขัดพระบรมราชโองการที่กำหนดว่า การใช้สิทธิอธิปไตยต่อเนื่องกับประเทศใกล้เคียงที่เป็นจุดเริ่มต้นของไหล่ทวีป ในการเจรจาตกลงกันให้ถือยึดบทบัญญัติกฎหมายสากลทางทะเลอนุสัญญาเจนีวา 1958 (มิใช่ให้ประเทศไทยทำตามกฎหมายสากลอยู่ฝ่ายเดียวดังที่ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงตกหล่นคลาดเคลื่อนไป)
ผมขอเอ่ยนามผู้ทรงคุณวุฒิระดับครูบาอาจารย์ที่ชำนาญเรื่องเขตแดนทางทะเล 3 ท่าน ที่คัดค้าน MOU2544 โดยมีเป็นเอกสารหลักฐานอย่างชัดเจน คือ
1) ดร.ประจิตร โรจนพฤกษ์ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย คนที่ 13
เอกสารคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เรื่องควรบอกเลิกบันทึกความเข้าใจ พ.ศ. 2544 (MOU2544) เกี่ยวกับเขตทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา หรือไม่?
2) ดร.สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย คนที่ 15
เอกสารเรื่องปัญหา MOU2544 เขตไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา ไทยเสียเปรียบจริงหรือ? จัดโดย กรรมาธิการการต่างประเทศและสถาบันพระปกเกล้า
3) พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ท่านอภิปรายไว้ในวุฒิสภาตามลิงก์ด้านล่าง
https://youtu.be/J_fiiUT1WKI?si=_ybIq_mdIEWhohRj
ในแง่มุมการเมือง ผมเห็นว่า การที่ทีมงานให้นายกรัฐมนตรีออกมาแถลงข้อมูลที่ตกหล่นเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของกัมพูชาก็ดี ตกหล่นเรื่องการละเมิดสิทธิของไทยเกินกว่ากฎหมายสากลกำหนดก็ดี (ผมชี้แจงเหตุผลไว้ด้านบนแล้ว) เป็นการเดินหมากการเมืองที่ผิดพลาด เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่มีพระราชอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นเดิมพัน
จึงเรียนมาด้วยความเป็นห่วงต่อประเทศ ประชาชน และนายกรัฐมนตรีครับ