xs
xsm
sm
md
lg

เห็นด้วยถล่มทลาย! "บ่อนไก่ชน" เปิดยาวๆ 12 ชม.ทั่วไทย มท.ยก 2 ร่าง ปรับวันอนุญาต อ้างเวลาเดิมไม่สอดคล้อง "ซอฟต์พาวเวอร์ท้องถิ่น"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เห็นด้วยแบบถล่มทลาย! "บ่อนไก่ชนถูกกฎหมาย" จ่อเปิดยาวๆ 12 ชม.ทั่้วไทย "10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม" เหตุเวลาเดิม 7 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม ไม่สอดคล้องซอฟต์พาวเวอร์ท้องถิ่่น หลัง ปค.มท. ชง "มท.1" ไฟเขียว รับฟังความเห็น "ร่างกฎกระทรวง-ร่างระเบียบฯ" ว่าด้วยการพนันชนไก่ เฉพาะร่างกฎกระทรวง รอรับทัวร์ลง ประเด็นเสียงรบกวนในชุมชน - "องค์กรพิทักษ์สัตว์" ค้านเวลาชนไก่ ส่วนร่างระเบียบฯ ปรับวันอนุญาต ให้สารพัดบ่อนเล่นได้ไม่เกิน 1 วันต่อสัปดาห์ ที่ไม่ตรงกับวันสําคัญของชาติ วันสําคัญทางศาสนา พ่วงเข้ม "รปภ.-ซีซีทีวี" ทุกสังเวียน

วันนี้ (8 พย.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ กรมการปกครอง ได้ยกร่างแก้ไขร่างกฎกระทรวง และร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่ ฉบับแรก เป็นร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 หลังได้เปิดรับฟังความคิดเห็น จากเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป

โดย ทั้ง 2 ร่างกําหนดวิธีรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) เป็นเวลา 19 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.2567 - 23 ส.ค.2567 และได้ประชาสัมพันธ์ประกาศดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

สรุป ผลการรับฟังความคิดเห็นได้ดังนี้ "การเล่นชนไก่" ซึ่งไม่มีการเล่นโตแต่ไลเซเตอร์ สวีป หรือ บุ๊กเมกิง รวมอยู่ด้วย กําหนดเวลา10 ถึง 22 นาฬิกา มีผู้แสดงความเห็น 264 คน เห็นด้วย 166 คน ไม่เห็นด้วย 94 คน และมีความเห็นไปในทางอื่่น ๆ 4 คน

พบว่า ในกรณีที่ไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่า ควรกําหนดเวลาใด ที่มีความเหมาะสม มีผู้แสดงความเห็น 146 คน โดยจำนวน 100 คน เห็นว่า ควรกําหนดเวลา 7 ถึง 19 นาฬิกา จำนวน 9 คน เห็นว่า ควรกําหนดเวลา 12 ถึง 24 นาฬิกา จำนวน 37 คน เห็นว่า ควรกําหนดเวลาอื่น ๆ

สำหรับร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่..) พ.ศ. ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มีหลักการสําคัญ เพื่อกําหนดเวลาเพิ่มเติม ในการเล่นชนไก่ ซึ่งไม่มีการเล่นโตแต่ไลเซเตอร์ สวีป หรือบุกเมกิงรวมอยู่ด้วย เป็นเวลา 10 ถึง 22 นาฬิกา

และให้เพิ่มแบบพิมพ์ใบอนุญาต พ.น. 4/1 01-50 ท้ายกฎกระทรวงนี้ ซึ่ง รมว.มหาดไทย ได้เห็นชอบในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และส่งให้คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยตรวจพิจารณาแล้ว

ล่าสุด คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย มท.คณะที่ 2 มีความเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขเวลาในการเล่นชนไก่ ให้สอดคล้องกับเวลาการเล่นชนไก่ในปัจจุบัน

แต่ในร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีการระบุเหตุผลไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของแก้ไขร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการแก้ไข ร่างกฎกระทรวงฯ

จึงให้กรมการปกครอง ปรับแก้ไขเหตุผลของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้สอดคล้องกับ เจตนารมณ์และข้อเท็จจริงของการแก้ไขกฎหมายในเรื่องดังกล่าวด้วย

สำหรับการแก้ไข ให้ปรับแก้ไขบทอาศัยอํานาจจาก “กฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503)” เป็น “กฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ.2503) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2567)”

เนื่องจาก ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการแก้ไขเวลาเพิ่มเติมต่อจากกฎกระทรวงฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2567) จึงต้องอ้างอิง บทอาศัยอํานาจให้ถูกต้องกับการแก้ไขดังกล่าวด้วย

หากภายหลังร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้มีการออกใช้บังคับแล้ว อาจก่อให้เกิดผลกระทบ ในเรื่องของเสียงรบกวนในชุมชน รวมถึงจากองค์กรพิทักษ์สัตว์เกี่ยวกับเวลาในการเล่นชนไก่

ดังนั้น กรมการปกครอง จึงควรพิจารณากําหนดมาตรการในการรับมือเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบด้วย

สำหรับร่างกฎกระทรวงฯ ว่าด้วยการพนันชนไก่ ระบุในหลักการและเหตุผล ตอนหนึ่งว่า การเล่นชนไก่ ที่ให้เล่นได้ภายในกําหนดเวลา คือ 7 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา

"ไม่สอดคล้องกับ สภาวการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนนิยมเล่นชนไก่ มักจัดให้มีการเล่นช่วงเวลาเย็นจนถึงค่ำ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทย ทําให้ประชาชนไม่นิยมเล่นชนไก่ในเวลากลางวัน ประกอบกับกําหนดเวลาเล่น ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป"

และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้ง เป็นการทํานุบํารุง สืบสาน และอนุรักษ์การเล่นชนไก่ ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมอันถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของท้องถิ่นจึงจําเป็น ต้องออกกฎกระทรวงนี้

ฉบับต่อมา เป็น ร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นได้ดังนี้ การเล่นการพนันชนไก่ ในแต่ละบ่อน หรือ แต่ละสังเวียน อนุญาตได้ไม่เกิน 1 วันต่อสัปดาห์ ที่ไม่ตรงกับวันสําคัญของชาติ วันสําคัญทางศาสนา หรือ ตามที่กระทรวงมหาดไทยกําหนด

มีผู้แสดงความเห็น 286 คน เห็นด้วย 182 คน ไม่เห็นด้วย 103 คน และมีความเห็นไปในทางอื่่น ๆ 1 คน ในกรณีที่ไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่า ควรกําหนดวันอนุญาต ใดมีความเหมาะสม มีผู้แสดงความเห็น 180 คน

จำนวน 114 คน เห็นว่า ควรอนุญาตได้เฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ของทุกสัปดาห์ ที่ไม่ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันสําคัญทางศาสนาเท่านั้น

ทั้งนี้ จะอนุญาตให้มีการเล่นการพนันชนไก่ในแต่ละบ่อนหรือ แต่ละสังเวียนได้ไม่เกิน 5 วันต่อเดือน จำนวน 33 คน เห็นควร อนุญาตได้เฉพาะสัปดาห์เว้นสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 วัน เดือนหนึ่งห้ามเกิน 3 ครั้ง และ อีก 33 คน เห็นไปในทางอื่น ๆ

ต่อมาปค. ได้ยกร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพนันชนไก่ และกัดปลา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีหลักการสําคัญ เพื่อกําหนดการเล่นการพนัน ชนไก่หรือกัดปลา ให้อนุญาตเล่นได้

จากเดิม “เล่นได้เฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ของทุกสัปดาห์ ที่ไม่ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันสําคัญทางศาสนาเท่านั้น” เป็น “เล่นได้ไม่เกิน 1 วันต่อสัปดาห์ ที่ไม่ตรงกับวันสําคัญของชาติ วันสําคัญทางศาสนา หรือตามที่กระทรวงมหาดไทยกําหนด”

และแก้ไขเพิ่มเติม (7) ของข้อ 17 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ. 2552 เพื่อกําหนด เงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

โดยอย่างน้อยจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และกล้องวงจรปิดตลอดเวลาที่มีการเล่นชนไก่ ทั้งนี้ กล้องวงจรปิดต้องอยู่ใน สภาพพร้อมใช้งาน และมีจํานวนที่เหมาะสม

ล่าสุด รมว.มหาดไทย ให้ความเห็นชอบในหลักการ และคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย มท.คณะที่ 2 เห็นว่า การที่กรมการปกครองแก้ไขร่างระเบียบดังกล่าว อาจเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ที่มุ่ง คุ้มครองความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงควรพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย

และเนื่องจากข้อ 17 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ. 2552 เป็นการกําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อห้าม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทําการตามที่ข้อ 17 ของระเบียบดังกล่าวกําหนดไว้

หากฝ่าฝืนผู้มีอํานาจสั่งอนุมัติมีอํานาจที่จะไม่อนุมัติให้เจ้าพนักงานผู้ออก ใบอนุญาตออกใบอนุญาตให้กับผู้รับใบอนุญาต

แต่ตามร่างระเบียบดังกล่าวได้กําหนดให้เพิ่มเติมเงื่อนไข ให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดไว้ในข้อ 17 จึงอาจไม่สอดคล้องกับ บทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากการจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องของการกําหนดให้ผู้รับใบอนุญาต

จะต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมิใช่ข้อห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติ ดังนั้น จึงควรนําไปกําหนด ไว้ในข้อ 2 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นเรื่องของการที่ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติก่อนมีการขอรับใบอนุญาตจึงจะเหมาะสมกว่า

เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ. 2552 มีทั้งการพนันชนไก่และกัดปลา การแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัย ดังกล่าว

กรมการปกครองควรแยกพิจารณากําหนดมาตรฐานให้ชัดเจนด้วยว่าการแก้ไขดังกล่าวจะครอบคลุม ถึงการเล่นการพนันกัดปลาด้วยหรือไม่อย่างไร

เนื่องจากการเล่นการพนันกัดปลาบางแห่งอาจจะไม่ต้องกําหนดหลักเกณฑ์ถึงขนาดต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดก็ได้ โดยให้คํานึงถึงสถานที่ในแต่ละพื้นที่ ในการจัดให้มีการเล่นการพนันเป็นเกณฑ์

ให้ตรวจสอบการใช้ถ้อยคําในร่างข้อ 3 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 13 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ. 2552 ให้ชัดเจนว่า กรณีดังกล่าวจะเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติหรือ เป็นผู้มีอํานาจพิจารณาอนุญาต เนื่องจากการกําหนดดังกล่าวอาจทําให้เกิดปัญหาในการตีความได้

รวมถึง การใช้คําว่าดุลพินิจในร่างระเบียบดังกล่าว เป็นการใช้คําฟุ่มเฟือย เนื่องจากการพิจารณาอนุญาตย่อมเป็น การใช้ดุจพินิจในการเลือกว่าจะกระทําหรือไม่กระทําในตัวอยู่แล้ว จึงไม่จําเป็นต้องกําหนดไว้ร่างระเบียบดังกล่าวอีก.


กำลังโหลดความคิดเห็น