xs
xsm
sm
md
lg

“เสธ.โหน่ง” ยันไร้พื้นที่ทับซ้อน ไทยทำถูก แต่เขมรขีดเส้นขึ้นเอง แนะฉีก MOU44 ขุดปิโตรเลียมได้เลย ไม่ต้องเจรจา ถ้าฟ้องมาเราก็ชนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตรอง หน.พรรคอนาคตใหม่ เตือนรัฐบาลอย่าเอาเกาะกูดมาบังเรื่องอื่น ยันไม่มีพื้นที่ทับซ้อน มีแต่กัมพูชาขีดเส้นขึ้นเอง แล้ววางกับดักให้ไทยหลุดปากยอมรับ ขณะที่ไทยทำตามหลักกฎหมายสากล แนะถ้าจะหาประโยชน์ในอาณาเขตของเรา ก็ทำได้เลย ใครมารุกรานก็พร้อมทำสงคราม หรือถ้าฟ้องมาเราก็ชนะ เว้นแต่เราไปรับรองเส้นที่กัมพูชาขีดขึ้นเอง ติงอย่าใช้คำ “คลั่งชาติ” เหยียดคนอื่นเพื่อจุดมุ่งหมายของตัวเอง ย้ำรักษาประโยชน์ชาติตามกฎกติกาไม่ได้คลั่ง

วันนี้ (6 พ.ย.) พล.ท.พงศกร รอดชมภู กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “พงศกร รอดชมภู” แสดงความเห็นเกี่ยวกับ MOU2544 ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา มีรายละเอียดดังนี้

เห็นกำลังกระพือข้อมูลว่าเรื่องกรณีผลประโยชน์ในอ่าวไทย ใครคัดค้านเป็นพวกขวาจัดคลั่งชาติ

ในฐานะที่ผมประกาศตัวเสมอมาว่าเป็นกลางซ้ายและไม่คลั่งชาติ เพราะนิยมความหลากหลาย น่าจะพออธิบายความได้บ้าง

เรื่องแรก ไม่ต้องเอาประเด็นเกาะกูดมาพูด เพราะตามสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ทุกเกาะเป็นของไทยจนถึงแนวหลักเขตที่ ๗๓ เพราะการพูดเอาเกาะกูดมาบังเรื่องอื่นนั้น ถือว่าให้ข้อมูลเพียงครึ่งเดียว เพื่อให้คนไทยหยุดตื่นตัว แบบนี้ไม่เป็นธรรมกับชาวไทย

เรื่องที่สอง ใครจะขอยกเลิก MOU44 นั้นอย่าไปบอกว่ากลัวกัมพูชาจะฟ้อง ในกรณีระหว่างประเทศขัดแย้งกันหากตกลงกันได้จะเอาเรื่องขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) ซึ่งเวลานี้ไทยถอนตัวจากการเป็นภาคีแล้วจากกรณีพระวิหาร ซึ่งส่วนตัวไทยไม่ควรไปขึ้น ICJ แต่แรก เพราะมีปัญหาการยอมรับว่าเป็นของฝรั่งเศสมาก่อน ส่วนกรณีอาณาเขตทางทะเลนั้นไทยสำรวจตามกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ขึ้น ICJ เมื่อไหร่ก็ชนะ ตรงนี้ไทยได้เปรียบ ยกเว้นกรณีรัฐบาลไทยไปเอ่ยปากรับรองเส้นที่กัมพูชาขีดเอาเอง หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นการยกเว้นให้ประโยชน์ตกกับกัมพูชาเพราะไทยยกให้เอง

ตรงนี้ต่างหากที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิก MOU44 อย่างไรก็ตาม MOU44 ก็บังคับให้ต้องเจรจาเรื่องเขตแดนคู่ไปกับผลประโยชน์เสมอ เพราะเขตแดนจะเป็นตัวกำหนด “ทะเลอาณาเขต” ๑๒ ไมล์ทะเลที่ถือเสมือนเป็นอาณาเขตบนแผ่นดิน ดังนั้น แม้ใช้ MOU44 ก็หมายถึงยังไม่ยอมรับเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่กัมพูชาขีดเองล้ำเข้ามาในเขตไทยฝ่ายเดียว

เรื่องที่สาม เลิกพูดถึงพื้นที่ทับซ้อนได้แล้ว เพราะไม่มีจริงตามกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากต้องเป็นการแบ่งครึ่งเท่าๆ กัน ระหว่างเขตแดนทางบกของสองประเทศที่ตรงกันข้ามกัน กรณีเกาะกูดเมื่อเป็นของไทยบวกกับทะเลอาณาเขตอีก ๑๒ ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด ต้องเอาอาณาเขตทางทะเลนี้เป็นที่ตั้ง แล้วให้กัมพูชาวัดจากอาณาเขตทางแผ่นดินที่ใกล้ที่สุดบวก ๑๒ ไมล์ทะเลเช่นกัน ลากตั้งฉากจากแผ่นดินชนกันตรงไหนที่แบ่งครึ่งกันก็จะนับเป็นอาณาเขตทางทะเลซึ่งไม่มีทางเกิด “พื้นที่ทับซ้อน” ได้เลย จะมีเพียงเส้นเดียวเท่านั้น ซึ่งกัมพูชาไม่ยอมรับกฎหมายทะเลนี้ และต้องการให้ไทยหลุดปากรับรองเส้นที่กัมพูชาขีดเองผ่านเกาะกูด ซึ่งแนวโน้มรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่กับดักนี้ ขึ้นอยู่กับว่ามีเจตนาหรือไม่มีเจตนาเท่านั้น ถ้าไม่มีเจตนาก็ดีหน่อยเป็นแค่ความไม่รู้เท่านั้น ดังนั้น หากยึดตามกฎหมายทะเลจะไม่มีพื้นที่ทับซ้อน ยกเว้นกรณีไทย-มาเลเซีย เกิดพื้นที่ทับซ้อนเพราะวัดจากแผ่นดินตั้งฉากออกไปจากด้านเดียวกัน ไม่ได้ยันกัน จึงเกิดขึ้นได้

เรื่องที่สี่ เลิกพูดเรื่องแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา เหตุผลเพราะไทยสำรวจอาณาเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่มีส่วนใดล้ำเข้าไปในเขตของกัมพูชา คำพูดแบบไม่มีความรู้ว่าต่างคนต่างผิด เพราะต่างคนต่างขีดเส้นนั้นไม่ถูกต้อง มีแค่ฝ่ายกัมพูชาเท่านั้นที่ขีดเส้นเอง เอาแค่ขีดเส้นผ่านอาณาจักรไทย คือ เกาะกูด ปกติต้องประกาศสงครามกันแล้ว ดังนั้น จึงมีแต่ฝ่ายกัมพูชาเท่านั้นที่ได้เปรียบฝ่ายเดียว ยังจะไปพยายามยัดเยียดให้ยอมรับว่าไทยขีดเส้นไม่ถูกต้องเสียอีก ดังนั้น หากจะให้เกิดความเป็นธรรมจริง ก็อาศัยเส้นแบ่งครึ่งนั้นไทยขอขีดเองเข้าไปในเขตกัมพูขาในจำนวนเท่าๆ กัน แล้วร่วมกันขุดหาผลประโยชน์ แบบนี้กัมพูชาน่าจะยอมรับได้ฝ่ายละ ๒๕,๐๐๐ ตร.กม. รวมเป็น ๕๐,๐๐๐ ตร.กม. บริษัทเอกชนพร้อมจ่ายอยู่แล้ว แต่ละประเทศก็ได้ประโยชน์พร้อมกันไปเรื่องจะได้จบจะดีไหม หรือว่าถนัดแค่การยกให้ฝ่ายเดียวกัน

เรื่องที่ห้า เลิกพูดคำว่า “ไหล่ทวีป” เพราะต่างคนต่างประกาศ “เขตเศรษฐกิจจำเพาะ” ๑๒๐ ไมล์ทะเล ภายใน “เขตไหล่ทวีป” ๓๕๐ ไมล์ทะเลได้กันทุกประเทศ แต่หากมีเรื่องดินแดนทางบกและทะเลอาณาเขต ๑๒ ไมล์ทะเลจากฐานเขตแดนและตั้งฉากออกมามาบังคับอยู่ด้วย อ่าวไทยคงเลิกพูดเรื่องไหล่ทวีปได้แล้ว

เรื่องที่หก คำว่า “คลั่งชาติ” กับ “การรักษาผลประโยชน์ของชาติ” น่าจะมีความแตกต่างกัน ความคลั่งมาจากการกระทำที่อยู่นอกเหนือหลักกฎหมายและกติกา เช่น กีฬาแพ้ คนไม่แพ้ เข้าไปตีกันแบบนี้เรียกคลั่ง แต่การกระทำการภายในกติกาและรักษากติกาให้มั่น โดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งจะกลายเป็นพวกคลั่งไปได้อย่างไร การใช้ภาษาเหยียดคนอื่น หรือการแต้มสีให้คนอื่นเพื่อจุดมุ่งหมายของตนเองเป็นวิธีการที่ไม่เป็นธรรมต่อประขาชนที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ แม้แต่ผู้แต้มสีเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นประเภทไหนระหว่าง ไม่มีข้อมูลหรือมีแต่ทำเป็นไม่มี

เรื่องที่เจ็ด ตกลงกับกัมพูชาไม่ได้ทรัพยากรในทะเลจึงเอาขึ้นมาใช้ไม่ได้ เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเส้นของกัมพูชาไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ (กรณีที่ไม่มีรัฐบาลไหนไปรับรองเส้นของกัมพูชา) เมื่อไทยสำรวจเสร็จแล้ว ในเขตของไทย ไทยจะหาผลประโยชน์อะไรก็ทำไปในสิทธิ หากกัมพูชาไม่พอใจ ให้ไปฟ้องศาลโลกเอาเอง ซึ่งนอกจากไทยไม่ได้รับรองศาลโลกแล้ว ถึงขึ้นไปก็ชนะอยู่ดี ตราบเท่าที่ไม่มีรัฐบาลไหนไปรับรองเส้นของกัมพูชา และขอย้ำว่า MOU44 ไม่ใช่การรับรองอาณาเขตทางทะเลให้กัมพูชา เพราะยืนยันให้สำรวจเรื่องนี้ก่อน หากกัมพูชารีบร้อนจะหาผลประโยชน์ก็ต้องสำรวจก่อน ส่วนไทยสำรวจแล้วก็ทำการขุดเจาะไป จะไปรอทำไมกับกัมพูชา

เรื่องที่แปด เลิกพูดคำว่า “MOU คือ ข้อตกลง” ยิ่งพูดก็ยิ่งตีความหมายไปได้ว่าพยายามยัดเยียดอาณาเขตส่วนของไทยให้กัมพูชาเสมือนว่าได้ตกลงยกให้ไปแล้ว บันทึกข้อตกลงต้องใช้คำว่า MOA (memorandum Of Agreement) ในทางธุรกิจ ยิ่งใช้มาก พูดรัวๆ กัมพูชายิ่งเก็บข้อมูลเอาไปขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ยิ่งบอกว่าต้องเข้าสภา จึงยกเลิกได้ ยิ่งแสดงสถานะเรื่องดินแดนมากขึ้น เพราะการตกลงเรื่องดินแดนต้องเอาเข้าสภา เข้าใจว่า ตอนเริ่มต้นเป็นบันทึกความเข้าใจเพื่อเปิดการเจรจาได้เท่านั้นและใช้อำนาจฝ่ายบริหารเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องดินแดนและไม่ผ่านสภา มาแต่แรก แต่ทำไมตอนจะยกเลิกต้องผ่านสภา ถ้าทุก MOU ต้องยกเลิก ทำไมกรณี พท กับ กก เมื่อข้ามขั้วไม่ต้องเอาเข้าสภา

ทั้งหลายทั้งปวงโดยส่วนตัวไม่เห็นความจำเป็นต้องรออะไรกับกัมพูชา หากไทยจะดำเนินการหาผลประโยชน์ในอาณาเขตของเราตามกฎหมายระหว่างประเทศ ใครมารุกรานก็ทำสงคราม ทหารมีไว้ทำไม เห็นพูดกันบ่อย ก็เอาไว้รบเมื่อถูกรุกรานนี่เอง

ภาพประกอบอาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้น ดูระหว่างไทยกับอินโดนีเซียเขตแดนตรงกันข้ามกันจึงมีเส้นเดียว ส่วนไทยกับมาเลเซียอยู่ฝั่งเดียวกัน จึงมีพื้นที่ทับซ้อนและตกลงกันเป็น “เขตพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area : JDA)” ได้ จึงเอาไปเทียบกับกรณีกัมพูชาไม่ได้ครับ

 Cr. ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล


กำลังโหลดความคิดเห็น