xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มโอยู 44 ชูพลังงาน มากกว่าดินแดน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร - ภูมิธรรม  เวชยชัย
เมืองไทย 360 องศา

เป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า รัฐบาลที่นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินหน้าเอ็มโอยู 44 หรือที่เรียกว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อใช้ประโยชน์ด้านพลังงานร่วมกัน และยังให้เหตุผลว่า หากมีการยกเลิกจะทำให้ฝ่ายกัมพูชาฟ้องร้องเราได้ พร้อมกับยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทยอยู่แล้ว

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังประชุมร่วมกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล โดยย้ำว่า เอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู เรื่องนี้ไม่ได้มีการถกเถียง เพราะเกาะกูดเป็นของไทย และหากไปดูการตีเส้น เขาก็ตีเส้น เว้นเกาะกูดไว้ให้เรา ซึ่งการพูดคุยกันในวันนี้ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน เนื้อหาในเอ็มโอยูเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ

ดังนั้น หากจะเกิดอะไรขึ้นจะมีข้อตกลงอะไร เราต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพูดคุยกัน ตอนนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ด้วย และตั้งแต่ สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะนาน เพราะดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยกันว่าระหว่าง 2 ประเทศตกลงกันอย่างไร

เมื่อถามว่า การไม่ยกเลิกเอ็มโออยู่ ทำให้คนมองว่าเรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชา หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “อันนั้นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร เอ็มโอยูดังกล่าวคือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ต่อมาปี 2516 เราขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกัน แต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำเอ็มโอยู ขึ้นมา และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร ขอย้ำว่า เกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่า เราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้”

ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิก เอ็มโอยู 44 นายกฯ กล่าวว่า “ต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร เราต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมีเอ็มโอยูว่าถ้าคิดไม่เหมือนกันเราต้องคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ในเอ็มโอยูดังกล่าว เปิดให้ 2 ประเทศพูดคุยกัน จึงต้องถามว่า ยกเลิกแล้วได้อะไร ถ้ายกเลิกฝ่ายเดียวโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ซึ่งไม่มีประโยชน์

เมื่อถามว่า การยืนยันวันนี้อาจถูกมองว่ารัฐบาลเดินต่อโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกฯ กล่าวว่า ไม่จริงเลย ที่เรามากันในวันนี้ ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจคอนเซปต์เดียวกันว่า ตกลงอันนี้คือข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาพูดให้ประชาชนฟัง เพื่อจะอธิบายว่า 1. เอ็มโอยูไม่เกี่ยวกับเกาะกูด 2. เอ็มโอยูคือเรื่องระหว่างสองประเทศ หากจะยกเลิกต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ และ 3. เรายังไม่เสียเปรียบเกี่ยวกับข้อตกลงเลย

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง การนำรายชื่อ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ Joint Technical Committee: JTC เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งโดยทั่วไปคนที่เป็นประธานคณะกรรมการ JTC จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง โดยมีองค์ประกอบเป็นกระทรวงการต่างประเทศ , กระทรวงการคลังการ , กระทรวงพลังงาน และมีตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, กรมเอเชีย และคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่คณะกรรมการชุดใหม่ ตนยังไม่ทราบว่าใครเป็นประธาน

ส่วนที่เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากยกเลิก MOU 44 จะทำให้ไทยเสียประโยชน์มากกว่า นายภูมิธรรมอธิบายว่า เรื่อง MOU 44 ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นฝรั่งเศสได้ขอพื้นที่เสียมราฐ, พระตะบอง และศรีโสภณ แต่ได้ยกชายฝั่งด้านจังหวัดตราด และเกาะต่าง ๆ ให้ไทย ดังนั้นตามสนธิสัญญานี้ ตอนหลังก็กลายมาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกัมพูชา ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยการเปลี่ยนแปลง และกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ ดังนั้นประเด็นที่จะยกเกาะกูดให้ไม่เป็นเรื่องจริง และไม่เกี่ยวกับ MOU ยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย 100%

นั่นคือ คำยืนยันทั้งจากปากของ นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่คาดว่าจะเป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิก (เจทีซี) ว่าต้องเจรจาในเอ็มโอยู 44 ต่อไป และย้ำว่าไม่เสียเกาะกูดไปอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องมาพิจารณากันก็คือ ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์นั้น และสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลชุดนี้พยายามเน้นย้ำก็คือ การเจรจาในเรื่องแหล่งพลังงานใต้ทะเลในพื้นที่ทับซ้อน (แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิ์) โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับเขตแดนนั้น เป็นการเข้าใจตรงกันกับฝ่ายกัมพูชาหรือไม่ เพราะฝ่ายกัมพูชาอ้างแผนที่คนละฉบับ โดยลากเส้นจากบนบก ลงมาในทะเล

ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องเน้นย้ำกันก็คือ การเจรจาเพื่อมุ่งเน้นในเรื่องเศรษฐกิจ มีการกล่าวถึงการแบ่งผลประโยชน์แบบ 50/50 โดยเฉพาะด้านพลังงาน อีกทั้งยังมีข้อน่าสงสัยในเรื่องการให้สัมปทานกับบริษัทสำรวจพลังงานจากต่างชาติ ซึ่งหลายฝ่ายมองตรงกันว่า คนไทยแทบไม่ได้ประโยชน์จากการแบ่งผลประโยชน์ดังกล่าว เพราะต้องใช้น้ำมันแพงอยู่ดี ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับบริษัทเอกชน ที่ได้รับสัมปทาน รวมไปถึงมีการกล่าวหาว่ามีนักการเมืองใหญ่บางคนที่ได้รับประโยชน์ธุรกิจดังกล่าวอีกด้วย

แต่เหนืออื่นใด การทำเอ็มโอยูกับฝ่ายกัมพูชาครั้งนี้ ล้วนมาจากความระแวงและไม่ไว้ใจรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจากยุครัฐบาลรุ่นพ่อ คือ นายทักษิณ ชินวัตร ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ ฮุนเซน ของกัมพูชา จนเกิดความเคลือบแคลงมาจนถึงวันนี้

แน่นอนว่า กรณีเอ็มโอยู 44 ที่รัฐบาลประกาศว่าเดินหน้าต่อ โดยอ้างว่า ได้ประโยชน์ ไม่เสียดินแดน โดยเฉพาะเกาะกูด นั้นถือว่าเป็น “ของร้อน” และเป็นเรื่องอ่อนไหว สำหรับความรู้สึกของคนไทย ซึ่งในทางการเมืองถือว่ามีความเสี่ยง เพราะเวลานี้เริ่มจุดกระแสความรักชาติ เริ่มมีการเคลื่อนไหวชุมนุมออกมาให้เห็นแล้ว ดังนั้นกรณีดังกล่าวอาจเป็นอีกหนึ่งจุดตายของรัฐบาลก็เป็นไปได้สูง หากไม่ระวัง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น