xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติไม่เอา "กิตติรัตน์ "แบบโต้งๆ เกมกดดันสรรหา จะเอาประธานบอร์ดแค่คนที่ชอบ! ** “นายกฯอิ๊งค์”ประกาศเดินหน้า เจรจาผลประโยชน์แหล่งก๊าซในทะเล ถามยกเลิก “เอ็มโอยู 44”แล้วได้ประโยชน์อะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กิตติรัตน์ ณ ระนอง - เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ -แพทองธาร ชินวัตร และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
ข่าวปนคน คนปนข่าว



++ แบงก์ชาติไม่เอา "กิตติรัตน์ "แบบโต้งๆ เกมกดดันสรรหา จะเอาประธานบอร์ดแค่คนที่ชอบ!

ปมร้อนว่าด้วยตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ทำเอารัฐบาลปวดเฮด

เพราะตั้งแต่ “วางตัว”คนที่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลเสนอชื่อ “โต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรง ถึงขนาดปลุกม็อบรวมพลคนไม่ “โต้ง” มารอกดดันในวันประชุมคณะกรรมการสรรหา

จากเดิมที่บอร์ดสรรหากำหนดจะประชุมกันเมื่อวาน ( 4 พ.ย.) “สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะ ประธานบอร์ดสรรหาคงเห็นท่าไม่ดี ไม่ไหวจะฝืน ด้วยกระแสต้านที่ยิ่งมายิ่งเผ็ดร้อน ขบวนต้านมีทั้งนักวิชาการกว่า 200คน และ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ได้แก่ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล , ธาริษา วัฒนเกส , ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ วิรไท สันติประภพ รวมถึง นายวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม อดีต เลขาธิการสภาพัฒน์ ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมขบวน “ค้านหัวชนฝา” จึงร่อนสารขอเลื่อนการประชุมออกไปก่อนอย่างฉุกละหุก

งานนี้ “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกับกุมขมับ "ร้องโอ้โห" ทำไมไม่ว่ากันตามกระบวนการ ถ้า “กิตติรัตน์” ไม่ขาดคุณสมบัติก็สมัครได้ แต่ถ้าไม่เข้าคุณสมบัติก็ถูกปฏิเสธไป ไม่เห็นประเด็นที่จะต้องคัดค้าน กิตติรัตน์

สำหรับ “กิตติรัตน์” เป็นมืออาชีพ รู้ทั้งเรื่องการเงิน การคลัง และหากเข้าไปนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็จะพูดคุยในมุมมองที่กว้างขึ้น นี่เป็นความเห็นของ “อ้วน-ภูมิธรรม”

แน่นอนว่า “อ้วน-ภูมิธรรม” ปฏิเสธงานนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่ก็รู้ๆ กันว่า “โต้ง-กิตติรัตน์” เป็นคนเพื่อไทย เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการ ก.ล.ต. อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร อดีต รองนายกฯ และ ขุนคลัง ในสมัย “รัฐบาลปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษา ของ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯคนก่อนหน้า
เมื่อ “โต้ง-กิตติรัตน์” เป็นคนของพรรคการเมืองโดยเฉพาะเพื่อไทย แบงก์ชาติ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา “นโยบาย” ไม่ตรงกับรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยนายกฯเศรษฐา จึงแสดงออกคัดค้านคนของรัฐบาลแบบไม่เอา “กิตติรัตน์” แบบโต้งๆ

ประกอบกับแต่ไหนแต่ไหนมา คนแบงก์ชาติ จะถือตัวอยู่เหนือรัฐบาล ยึดนโยบายของตัวเองเป็น “องค์กรอิสระ”การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงไม่ได้

ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ - กุลิศ สมบัติศิริ
ในยุคของ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เข้ามาเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ความมีอีโก้ในเรื่องนี้ยิ่งสูงปรี๊ด สัมผัสได้จากการยืนกรานนโยบายดอกเบี้ย ที่ปะทะกันทางความคิดกับรัฐบาลเศรษฐา หลายครั้ง

แบงก์ชาติยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ยอมลดดอกเบี้ยโดยให้เหตุผลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทา “หนี้ครัวเรือน”

ทราบกันว่า กว่าแบงก์ชาติจะยินยอมโอนอ่อนผ่อนตามลดดอกเบี้ยตามกระแสโลกก็นานโข ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี จนมีคำถามว่า ตกลงผู้ว่าแบงก์ชาติ ทำเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน หรือเพื่อความมั่งคั่งของแบงก์พาณิชย์ ที่นอนกินส่วนต่างดอกเบี้ย พุงกาง

เศรษฐกิจ-ธุรกิจ-ประชาชน บักโกรก แต่ธนาพาณิชย์ กำไรบานตะไท ปีละหลายแสนล้าน!

ด้วยเหตุฉะนี้ อีกกระแสจึงมองว่า ที่แบงก์ชาติ ออกอาการต่อต้าน “กิตติรัตน์” รุนแรง เพราะกลัวจะถูกบี้ถูกสั่ง

แบงก์ชาติกลายเป็นกบเลือกนาย เพราะไม่ชอบนโยบายของฝ่ายการเมือง

ถามว่านอกจาก “กิตติรัตน์”แล้วแคนดิเดต ตอนนี้มีใครบ้าง?

ปรากฏชื่อของ “กุลิศ สมบัติศิริ” ที่เติบโตมาจากการเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง เคยเป็น รอง ผอ.สคร. อธิบดีกรมศุลากร ก่อนจะข้ามห้วยไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลลุงตู่

คุณสมบัติของ “กุลิศ” ว่ากันว่า เป็นคนทำงานฉับไว เป็นมือประสานสิบทิศ และเข้ากับการเมืองได้ดี ซึ่งฝ่ายที่สนับสนุนแบงก์ชาติ ออกโรงเชียร์อยากจะให้ กุลิศ นั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติมากกว่า “กิตติรัตน์”

ส่วนแคนดิเดตอีกคนว่ากันว่า เป็น “ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” อดีต อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยผ่านการเป็นบอร์ด และประธานบอร์ดขององค์กรรัฐและเอกชนมาหลากหลาย เช่น ประธานบอร์ด อสมท. ประธานบอร์ดกำกับดูแลกิจการและกรรมการอิสระ ปตท. ที่เชื่อกันว่าจะเป็นตัวสอดแทรกได้

สรุปว่า งานนี้แบงก์ชาติ ระดมอดีตผู้ว่าฯ และผู้บริหารปัจจุบัน จับมือกันกดดันการเมือง ใช้กระแสสังคม นำกลุ่ม คปท., ศปปส. , กองทัพธรรม เดินทางมายื่นหนังสือให้แบงก์ชาติ คัดค้านการเมืองแทรกแซง ธปท. กดดันให้คลังเปลี่ยนชื่อแคนดิเคตจาก “โต้ง-กิตติรัตน์” เป็นคนอื่นซึ่งมีกระแสว่าน่าจะเป็น “พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” อดีต ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง แทน

งานนี้ก็ขึ้นอยู่กับบอร์ดสรรหา จะลุยไฟเลือกใคร? กำหนดจะเคาะกัน วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป แบงก์ชาติที่อิสระจนเป็น "ปกติธุระ" จะได้คนที่ตัวเองชอบ หรือไม่ !?

แพทองธาร ชินวัตร และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
++ “นายกฯอิ๊งค์”ประกาศเดินหน้า เจรจาผลประโยชน์แหล่งก๊าซในทะเล ถามยกเลิก “เอ็มโอยู 44”แล้วได้ประโยชน์อะไร

ปัญหา การอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area : OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา มีมาตั้งแต่ปี2515 โน่นแล้ว เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ว่า ใต้ทะเลมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ โดยกัมพูชา ขีดเส้นกำหนดเขตแดนมาก่อน ผ่ากลางเกาะกูด ต่อมาปี2516 ไทยก็ขีดเส้นเขตแดนบ้าง ทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่มากถึง 26,000 ตร.กม.

เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ จึงมีการเจรจาและตกลงกันว่า จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทย และกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 หรือที่เรียกกันว่า “MOU 2544” นั่นเอง

เมื่อมี MOU 2544 ขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ว่า ไทยจะไปยอมรับแนวเขตที่กัมพูชาขีดไว้ หรือ กัมพูชาจะยอมรับแนวเขตที่ไทยขีดไว้ MOU 2544 จึงเป็นเพียงกรอบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเจรจากันต่อไป

ต่อมาในช่วงปี 2552 ยุค “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ซึ่งช่วงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย- กัมพูชาไม่ค่อยราบรื่นนัก กัมพูชา ขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ 4.6 ตร.กม. แต่เพียงฝ่ายเดียว นำไปสู่การขึ้นศาลโลก เกิดความตึงเครียดตามแนวชายแดน กระทรวงการต่างประเทศ จึงเสนอ ครม.ให้ยกเลิก Mou 2544 ไปเมื่อ 10 พ.ย. 2552 เพราะมองว่า ไม่มีความคืบหน้า และก็ไม่มีความจำเป็น ซึ่งขณะนั้น ครม.รับในหลักการ และให้ไปพิจารณาให้ดี และรอบคอบ ในแง่ของข้อกฎหมาย ซึ่งหลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับทีมที่ปรึกษาจากต่างประเทศ

ต่อมาปี 2557 ยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ทีมที่ไปศึกษา เห็นว่า Mou 2544 มีประโยชน์ ข้อดีมากกว่าข้อเสีย และ กัมพูชาก็ยอมรับ จึงได้เสนอให้ทบทวนมติ ครม.ดังกล่าว

กระทั่งขณะนี้ ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันว่า Mou 2544 ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไปแล้วหรือยัง โดยฝ่ายที่จะเดินหน้าเจรจาหาผลประโยชน์ทางทะเล ก็บอกว่ายังมีผล แต่ฝ่ายที่เกรงว่า ไทยอาจจะต้องเสียดินแดนก็บอกว่าถูกยกเลิกไปแล้ว

ส่วนเกาะกูด ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ เนื่องจาก เส้นที่กัมพูชาขีดออกมาอ้างว่าเป็นเขตแดนนั้น ไปผ่ากลางเกาะกูด

แต่ตามสนธิสัญญากรุงสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ระบุชัดเจนว่า เกาะกูด เป็นของไทย ถือเป็นหลักฐานสำคัญ ยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ โดยไม่เคยเป็นประเด็นสงสัย มีความชัดเจนอยู่แล้ว ในอดีตถึงปัจจุบัน เราใช้อำนาจอธิปไตย เหนือเกาะ 100% ปัจจุบันเกาะกูดมีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งของจ.ตราด

เมื่อฝ่ายไทยยืนยันไปเช่นนี้ ขณะที่กัมพูชา ห่วงผลประโยชน์จากแหล่งก๊าซ จึงยอมทำเส้นประ โค้งอ้อมเกาะกูด แล้วค่อยตรงไปเหมือนเดิม เหมือนยอมรับว่าตัวเกาะกูด เป็นของไทย แต่น่านน้ำส่วนหนึ่งในบริเวณนั้น เป็นของกัมพูชา

เจอเล่ห์กลของกัมพูชาเช่นนี้ ทำให้ไทยไม่ไว้วางใจ

ยิ่งมาต่อภาพ “จิ๊กซอว์” ในวันที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับการพักโทษ กลับมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แล้ว“ฮุนเซน” อดีตนายกกัมพูชา รีบบินมาเยี่ยมเยียนทันที แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วัน “แพทองธาร ชินวัตร”ก็บินไปกัมพูชา

จึงยิ่งมีความไม่ไว้วางใจว่า การเจรจาผลประโยชน์ทางทะเลนั้น จะทำเพื่อชาติ หรือเพื่อตระกูลชินวัตร และ ตระกูลของ “ฮุนเซน”กันแน่

นั่นจึงเป็นที่มาของกระแสคัดค้าที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ จนทำให้ “นายกฯอิ๊งค์” ต้องเรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือ

หลังจากนั้น “นายกฯอิ๊งค์” ก็ออกมาแถลงข่าว โดยมีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมายืนเป็นวอลเปเปอร์

“นายกฯอิ๊งค์”ประกาศกร้าว เดินหน้าเจรจาตามกรอบ Mou 2544 อ้างถ้ายกเลิกจะถูกกัมพูชาฟ้องได้ พร้อมย้อนถามว่า ยกเลิกแล้วได้ประโยชน์อะไร อย่าเอาเรื่องการเมือง มาทำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน

ส่วนเรื่อง เกาะกูดนั้น ขอให้สบายใจได้ เพราะไม่อยู่ในข้อตกลง ไม่เกี่ยวกับ Mou 2544 และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดด้วย
“เกาะกูดเป็นของไทย และหากไปดูการตีเส้น เขาก็ตีเส้น เว้นเกาะกูดไว้ให้เราด้วย การพูดคุยกันในวันนี้ ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ในทะเล”

ตอนนี้คณะกรรมการเจรจาของกัมพูชา มีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ โดยจะมี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน

ส่วนปัญหาที่ว่า Mou 2544 ถูกรัฐบาล อภิสิทธิ์ ยกเลิกไปหรือยัง “นายกฯอิ๊งค์”บอกว่า ไม่มี ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่เกิดการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ

“ต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร... ในเอ็มโอยูดังกล่าว เปิดให้ 2 ประเทศพูดคุยกัน จึงต้องถามว่า ยกเลิกแล้วได้อะไร ถ้ายกเลิกฝ่ายเดียว โดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ดังนั้นอย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน”
จากท่าทีของ “นายกฯอิ๊งค์” และพรรคร่วมรัฐบาลที่ประกาศเดินหน้าเต็มสูบ เห็นทีกระแสความร้อนแรงเรื่อง Mou 2544 คงไม่ลดลงแน่


กำลังโหลดความคิดเห็น